อดีตรองอธิบดีกรมคุก พูดแทนผู้คุม ชีวิตแสนอาภัพ หดหู่ งานยากเสี่ยงอันตราย นักโทษชั่วช้าแค่ใหน แต่ปล่อยออกต้องเป็นคนดี เมตตาผู้ต้องขังกลายเป็นสปอย เข้มงวดกลายเป็นโหดร้าย อัตราฆ่าตัวตายของผู้คุมสูงกว่าผู้ต้องขังถึง 13 เท่า
กระแสที่โถมเข้าใส่ผู้คุมเรือนจำจากเหตุการเสียชีวิตของอดีต ผกก.โจ้ วันนี้ (13 มี.ค.68) นายกฤช กระแสร์ทิพย์ อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ข้อมูลสถิติปี 2567 มีคนไทยฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน มีผู้ต้องขังฆ่าตัวตาย 3.4 คน ต่อประชากรผู้ต้องขัง 1 แสนคน และมีผู้คุมฆ่าตัวตาย 43 คน ต่อประชากรผู้คุม 1 แสนคน
“แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ชาวราชทัณฑ์ดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังได้ดีกว่าภายนอกเสียอีก อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขังต่ำกว่าภายนอกถึงครึ่งต่อครึ่ง นี่มันสุดยอดฝีมือระดับมือเทวดาเลยนะ ผู้คุมเขาดูแลคุกอย่างไรให้คนข้างในฆ่าตัวตายน้อยมาก แต่พอมาดูอัตราการฆ่าตัวตายของผู้คุม มีอัตราส่วนฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ต้องขังถึง 13 เท่า มันเกิดอะไรขึ้น”
รองฯ กฤช ตั้งคำถามว่า คุณรู้มั้ยว่า ผู้คุมถูกดดันจากอะไรบ้าง? ผมคลุกคลีกับคุกมาตั้งแต่ปี 2539 มีประสบการณ์การทำหน้าที่ผู้บัญชาการเรือนจำ 9 แห่ง ระยะเวลา 20 ปี อยากจะเล่าให้ฟังถึงสภาพการทำงาน งานราชทัณฑ์มีลักษณะ 3 D 2 L
D 1 (Difficult) งานเรามันยาก ต้องควบคุมคนที่มีปัญหา เป็นภัยอันตราย สังคมไม่เอา แต่เราต้องอยู่ดูแลคนเหล่านี้ 24 ชั่วโมง มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายราชทัณฑ์ กฎหมายป้องกันการทรมาน กฎหมายรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามปฎิญญาสากลด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ปฏิบัติตาม Mandella rules ปฏิบัติตาม Bangkok rules
นอกจากนั้น สังคมก็คาดหวังสูงมาก ถึงชั่วช้ามาแค่ใหน แต่ปล่อยออกไปต้องเป็นคนดีนะ พอเมตตาผู้ต้องขังมาก ก็หาว่า spoil โอ๋นักโทษ แล้วแบบนี้เมื่อไรมันจะหลาบจำเกรงกลัวคุก แต่ถ้าหากผู้ต้องขังดื้นด้าน ผิดวินัย ไม่เกรงกลัว พอเราใช้วิธีการเข้มงวด เคร่งครัด ถึงเนื้อถึงตัว ก็หาว่าป่าเถื่อน โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
D 2 (Dangerous) งานราชทัณฑ์ มีความเสี่ยงภัยอันตราย เหมือนคนเลี้ยงเสือ แม้จะเลี้ยงด้วยความเมตตา แต่วันดีคืนดีก็ถูกเสือตะปบทำร้าย ไหนจะโรคภัยไข้เจ็บที่ติดจากผู้ต้องขัง ไหนจะสภาพอดหลับอดนอนเข้าเวรยามจนสุขภาพย่ำแย่ เช้ามาออกเวร ก็ต้องรีบกลับบ้าน เวลา 09.30 น. ก็ต้องรีบมาปฏิบัติหน้าที่ปกติ
D 3 (Dirty) สภาพในเรือนจำมันไม่น่าอภิรมย์ นึกภาพกำแพงสูงทะมึน ไม่เห็นโลกภายนอก มีซี่กรง มีโซ่ตรวน ตัดขาดการสื่อสารจากภายนอกขณะเข้าทำงาน จะเล่นไลน์ เล่นเฟส ทำไม่ได้ ต้องคอยเฝ้าระวังอย่าให้เกิดเหตุร้าย ผู้ต้องขังก็ดูเครียด หม่นหมอง ไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ผู้คุมต้องทนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ชั่วนาตาปี ตกเย็นมาจึงต้องพึ่ง L กฮ.
L 1 (Low Dignity) เกียรติภูมิของคนราชทัณฑ์ เมื่อเทียบกับผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยกัน เราจะถูกมองว่าด้อยกว่าเขาทั้งหมด
L 2 (Low Salary) เงินเดือนของผู้คุมไทย นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เวลาส่วนใหญ่ของเรานั่นอยู่ในคุก แทบไม่ต่างจากผู้ต้องขัง ระยะหลังดีขึ้นหน่อยมีค่าเสี่ยงภัยมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ผู้คุมจึงเป็นหนี้สหกรณ์กันถ้วนหน้า
ข้อความตอนหนึ่ง รองฯกฤช บอกว่า ผู้คุมยังต้องทนทุกข์ใจ หากมีเรื่องความรับผิดชอบทางครอบครัว เช่น พ่อแม่ลูกเมียป่วยไข้ แต่ไปดูแลไม่ได้ เพราะต้องไปเฝ้าผู้ต้องขังป่วยที่โรงพยาบาล หาเวรออกไม่ได้ ส่วนในวันหยุดยาว จะพาลูกไปกราบปู่ตาย่ายายก็ไม่ได้ ต้องไปหลังหยุดยาว โดยลาพักผ่อน และหาจ้างเวรแทน 1-2 พัน แล้วแต่เทศกาล
ไม่นับรวมเรื่องความรักความสัมพันธ์ฉันท์คู่ผัวตัวเมียอีก ผัวเป็นผู้คุม เมียก็ผู้คุม หรือผัวผู้คุม เมียพยาบาล ทุกคนต่างมีเวรต้องเข้า ผัวหนุ่มเมียสาว ตั้งใจจะผลิตทายาทไว้สืบตระกูลก็ดันเข้าเวรตรงกันอีก บางทีผัวเข้า เมียออก ได้แค่จับมือสบตาละห้อยกันตรงประตู ปัญหาครอบครัว ปัญหาเตียงหัก จึงเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ
“แสนจะอาภัพ โหดร้าย หดหู่ ชีวิตผู้คุมไทย ค่าเวร 400 บาท นี่ปรับเป็น 1,000 บาท เท่ากับค่าเวรเจ้าหน้าที่ออกหมายของศาลในวันหยุดได้แล้วครับ” กฤช กระแสร์ทิพย์