ห้องข่าวภาคเที่ยง - ดาบตำรวจนายหนึ่ง เป็นลมล้มพับไป ขณะปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางอากาศร้อน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโรคประจำตัว สภาพอากาศ หรือความเครียดเพราะถูกประชาชนไลฟ์สดตำหนิ
ด.ต. วูบ คาไลฟ์ หลังถูกตั้งแง่ขณะปฏิบัติหน้าที่
เป็นคลิปนาทีที่ ดาบตำรวจ ศุภมิตร ผบ.หมู่ งานจราจร สภ.พรหมบุรี อายุ 49 ปี เสียการทรงตัว ขณะนั่งใช้กล้องตรวจจับความเร็วอยู่บริเวณริมถนนสายเอเชียขาขึ้น ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ตอนแรกทุกคนคิดว่าตะคริวกินหรือไม่ เพราะนั่งมานาน แต่เมื่อเห็นอาการของดาบตำรวจเริ่มแย่ลงก็รีบเข้าไปช่วยเหลือ และส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสิงห์บุรีทันที
จากผลตรวจร่างกายพบมีเลือดซึมในสมอง ทำให้สมองบวม ซึ่งดาบตำรวจไม่มีโรคประจำตัว จึงคาดว่าเครียดจนเกิดอาการสโตรก ระหว่างนี้ต้องนอนพักรักษาตัว รอดูอาการ หากไม่ดีขึ้นอาจต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทำการรักษาตามขั้นตอนต่อไป
เบื้องต้น ทางผู้กำกับ สภ.พรหมบุรี เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานว่าเข้าข่ายกฎหมายข้อใดบ้าง เพื่อเอาผิดกับแอดมินเพจฯ
ขณะที่เจ้าของเพจเฟซบุ๊กเปิดใจกับทีมข่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ตั้งใจเพียงตามหาข้อเท็จจริงว่าเหตุใดดาบตำรวจนายนี้ต้องมาตั้งกล้องจับความเร็วทุกครั้งที่ตั้งด่าน แต่หากทางตำรวจติดใจ คิดว่าการไลฟ์เป็นเหตุให้ดาบตำรวจล้มป่วย ตนก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเช่นกัน
ทีมข่าวสอบถามไปยัง แพทย์หญิงวริสา วงศ์ภาณุวิชญ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เส้นเลือดแตก ซึ่งต้องไปดูสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรค เช่น ตำรวจท่านนี้มีโรคประจำตัวหรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น ดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
เห็นต่าง เข้า-ไม่เข้า ความผิดตามกฎหมาย
แล้วแบบนี้จะเอาผิดอย่างไรได้หรือไม่ ? มีคนวิเคราะห์เรื่องนี้ออกไปแตกต่างกัน เริ่มจากในมุมตำรวจ มองว่า ถ้าการไลฟ์สดของเพจฯ นั้น ๆ ไม่ได้รบกวนการทำงาน ไม่ได้เข้าไปวุ่นวายเสียจนตำรวจทำงานไม่ได้ ก็อาจจะยังไม่เข้าข่ายความผิด ส่วนเรื่องจะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ ? อันนี้ต้องไปดูในไลฟ์สดว่าใครพูดอะไร หรือมีใครด่าอะไรที่เข้าข่ายความผิดนี้บ้าง
สอบถามกับ "ทนายเดชา" มองว่า กรณีที่เกิดขึ้นน่าจะเอาผิดได้ ฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งเป็นความลหุโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนความผิดฐาน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ต้องดูเงื่อนไของค์ประกอบอื่น เช่น มีการกำหนดขอบเขตห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าไปในพื้นที่ที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่ หรือไม่ เพราะถ้ามีการเตือนแล้ว แต่ไม่ทำตาม ก็อาจเข้าข่ายความผิดนี้ได้
ส่วน "ทนายรณณรงค์" มองว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด "ถ้า" จะเข้าจริง ๆ ก็อาจต้องไปดูเรื่องการไลฟ์สดว่ามีการด่า หรือใช้ถ้อยคำใด ๆ ที่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือไม่ อันนี้ยังพอเป็นไปได้ที่จะเอาผิดในข้อหานี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตั้งด่านตรวจวัดความเร็ว และด่านตรวจตราตามปกติ มีตำรวจให้ข้อมูลว่าสามารถทำได้ แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าการตั้งด่านไหนที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำหนังสือร้องเรียน หรือแจ้งท้องที่ให้ดำเนินการตรวจสอบได้