หมอเจดโพสต์เตือน หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ปล่อยไว้เสี่ยงหัวใจวาย อันตรายถึงตาย

หมอเจดโพสต์เตือน หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ปล่อยไว้เสี่ยงหัวใจวาย อันตรายถึงตาย

View icon 1.1K
วันที่ 24 มี.ค. 2568 | 19.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (25 มี.ค. 68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุ เตือน หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ปล่อยไว้เสี่ยงหัวใจวาย อันตรายถึงตาย

โดยหมอเจด ได้โพสต์ระบุว่า ถ้าพูดถึง “หินปูน” หลายคนอาจคิดถึงคราบ ที่เกาะอยู่ตามฟัน แต่รู้ไหมว่าหินปูนสามารถไปสะสมในหลอดเลือดหัวใจได้ด้วยนะครับ และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มัทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้

เดี๋ยวเล่าให้ฟังนะครับ ว่าหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Calcification, CAC) ว่ามันคืออะไร อันตรายแค่ไหน และเราจะป้องกันได้อย่างไร

1. หินปูนเกาะหลอดเลือดคืออะไร?

ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ ก็คือการที่มี แคลเซียม ไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจของเรา โดยเฉพาะตรงที่มี ไขมันและคราบพลัค (plaque) อยู่แล้ว
ซึ่งคราบพลัคพวกนี้ก็มักจะเกิดจาก ไขมัน LDL (ไขมันไม่ดี), การอักเสบ และสารอื่น ๆ ที่ไปสะสมกัน
พอแคลเซียมเข้ามาเกาะ คราบพลัคก็จะ แข็งตัวขึ้น และทำให้หลอดเลือดแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ทีนี้ก็เสี่ยงที่จะเกิด หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือร้ายแรงสุดก็คือ หัวใจวายเฉียบพลัน ได้

2. มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ใครเสี่ยงบ้าง?

จริง ๆ แล้ว หินปูนเกาะหลอดเลือด ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนแก่เท่านั้นนะ แต่เริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 30-40 ปีขึ้นไปเลย โดยเฉพาะคนที่มี พฤติกรรมเสี่ยง เหล่านี้

- กินอาหารไขมันสูง  ของทอด ของมัน ของหวาน น้ำตาลสูง พวกนี้ทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือดได้เร็วขึ้น
- สูบบุหรี่  นิโคตินและสารพิษในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดอักเสบ เสี่ยงเกิดคราบพลัคง่ายขึ้น
- ความดันโลหิตสูง ความดันที่สูงตลอดเวลาทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายและเกิดคราบหินปูนได้เร็ว
- เบาหวาน  น้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันนานๆ ทำให้หลอดเลือดแข็งและอักเสบ
- พันธุกรรม  ถ้าที่บ้านมีประวัติโรคหัวใจหรือหลอดเลือด แสดงว่าคุณก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
- ขาดการออกกำลังกาย การไม่ค่อยขยับตัวทำให้ไขมันไม่ถูกเผาผลาญสะสมในร่างกายง่ายขึ้น

กินแคลเซียมไม่ถูกวิธี

ถ้าร่างกายได้รับ แคลเซียมมากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารเสริมแคลเซียม โดยไม่มีวิตามิน K2 หรือแมกนีเซียมช่วยควบคุม แคลเซียมอาจไปสะสมที่หลอดเลือดแทนที่จะไปเสริมกระดูก
ถ้ามีหลายข้อในนี้ ต้องเริ่มดูแลตัวเองแล้วนะ

3. อาการเป็นยังไง? เช็กตัวเองด่วน

หลายคนเข้าใจว่า ถ้าหลอดเลือดหัวใจเริ่มมีหินปูนเกาะ จะต้องรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายทันที แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นภัยเงียบ เพราะอาจไม่มีอาการอะไรเลย จนกว่าหลอดเลือดจะตีบมาก ๆ หรืออุดตันไปแล้ว
แต่ถ้าเริ่มมีอาการพวกนี้ รีบไปหาหมอด่วนเลยนะ

เจ็บหน้าอกแน่น ๆ  โดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย หรือเครียดจัด

- เหนื่อยง่ายผิดปกติ  ทำอะไรนิดหน่อยก็หอบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน
- เวียนหัว หน้ามืด  เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ  เป็นสัญญาณว่าหัวใจกำลังทำงานหนักกว่าปกติ
- มือ เท้า หรือใบหน้าชา  ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีปัญหาด้วย อาจเกิดอาการแบบนี้ได้

บางคนกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารอให้มีอาการ รีบเช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า

4. ตรวจยังไง รู้ได้มั้ยว่ามีหินปูนเกาะหลอดเลือด?

ปัจจุบันมีวิธีตรวจที่สามารถเช็กได้ว่า เรามีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจแล้วหรือยัง ซึ่งหมอส่วนใหญ่หมอจะแนะนำให้ทำในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง

- CT Calcium Score (เอกซเรย์คำนวณแคลเซียมในหลอดเลือด) ตรวจโดยใช้เครื่อง CT Scan ดู
ว่ามีแคลเซียมสะสมในหลอดเลือดหัวใจเยอะแค่ไหน ยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยงสูง
- Echocardiogram (คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ) เช็กดูว่าหัวใจสูบฉีดเลือดปกติไหม
- ตรวจเลือด (เช็กไขมันและน้ำตาลในเลือด)  ถ้าไขมัน LDL สูง หรือมีเบาหวาน ก็มีโอกาสเสี่ยงสูง

ถ้าผลออกมาว่ามีแคลเซียมสะสมเยอะ หมออาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมหรือให้ยาลดไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงหัวใจวายในอนาคต

5. ป้องกันได้ไหม? ต้องดูแลตัวเองยังไง?

เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ แค่ต้องปรับไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรกับหัวใจมากขึ้น

- กินอาหารดี ๆ ลดของทอด ของมัน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แค่เดินเร็ว 30 นาทีต่อวันก็ช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว
- เลิกบุหรี่  ถ้ายังสูบอยู่ หยุดตอนนี้เลยดีกว่า
- ลดเครียด นอนให้พอ ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งสารที่ทำให้หลอดเลือดอักเสบและแข็งตัว
- กินยาตามแพทย์สั่ง (ถ้าจำเป็น)  ถ้ามีไขมันสูง หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
- ทานวิตามิน K2 และแมกนีเซีมควบคู่ไปด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงได้

หมอเจดได้ฝากเพิ่มเติมว่า หลายคนมีหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ทันสังเกต เพราะมันเไม่ได้มีอาการชัดเจน แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำใหัเกิด โรคหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลันได้

ทางที่ดีที่สุดคือ เช็กสุขภาพหัวใจตั้งแต่ตอนนี้ ปรับพฤติกรรม และป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป  ดูแลตัวเองกันด้วยนครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง