สนามข่าว 7 สี - ลูกดื้อ เอาแต่ใจ เถียงไม่หยุด ! จนแม่ ๆ ต้องแปลงร่างจากนางฟ้าเป็นนางยักษ์ ต่อไปนี้ พ่อ ๆ แม่ ๆ คงสวมวิญญาณยักษ์ไม่ได้แล้ว เนื่องจากกฎหมายใหม่ คุ้มครองเด็กแรกเกิด ถึง 20 ปี ห้ามตีลูก ทารุณกรรมทุกรูปแบบเด็ดขาด
กฎหมายฉบับนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2568 มีใจความสำคัญ คือ ห้ามลงโทษบุตรหลานที่เป็นการทารุณกรรม ทำร้ายสภาพจิตใจ หรือพูดง่าย ๆ คือ ห้ามเฆี่ยนตี ห้ามด้อยค่า ห้ามด่า อันจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กไทย โดยกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองผู้ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 20 ปี
ทีมข่าวสอบถามไปยัง นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคประชาชน ผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ให้ข้อมูลว่า หากตีความตามกฎหมายแบบ 100 % นั้นหมายความว่า พ่อแม่ผู้ปกครองห้ามเฆี่ยนตีบุตรหลานเด็ดขาด และให้ใช้การว่ากล่าวตักเตือนแทน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนสภาพจิตใจเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ
แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายไม่ได้ต้องการเอาผิดพ่อแม่ผู้ปกครอง 100 % เพราะถ้าหากเป็นการกระทำที่พลั้งมือ เผลอตีบุตรหลานด้วยความรัก อยากให้ได้ดิบได้ดี แต่ถ้าหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามา คงต้องมาสืบเจตนา และความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ว่าที่ทำลงไปเพราะอะไร
กรณีพ่อแม่ผู้ปกครองทำร้ายร่างกายบุตรหลานจนเกินขอบเขต ถึงขั้นเลือดตกยางออก ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางร่างกาย กรณีแบบนี้จะเป็นหน้าที่ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กำกับดูแลอีกขั้น
ทั้งนี้ การที่ไทยออกกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงจุดยืน ว่าไทยไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกกรณี สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งรัฐภาคี ซึ่งไทยจะเป็นประเทศ 67 ที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ และเป็นประเทศที่ 2 แห่งภูมิภาคอาเซียน ต่อจาก สปป.ลาว
ขณะที่ อาจารย์นัดดาภา จิตต์แจ้ง อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า หากตีความตามกฏหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามตีบุตรหลายเลยเสียทีเดียว แต่เป็นการแก้คำจำกัดความในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้กันมากว่า 80 ปี ให้แคบลง จากเดิมที่ระบุว่า ให้ลงโทษบุตรหลานตามสมควร เปลี่ยนเป็นห้ามทารุณกรรม ทำร้ายความรู้สึก
แต่จะให้กฎหมายมาบอกว่า ห้ามตีกี่ที ห้ามดุด่ากี่ครั้ง คงกว้างเกินไป ดังนั้นการพิจารณา จึงขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานที่จะตีความ สรุปแล้ว พ่อแม่ยังตีลูกได้ แต่ต้องไม่รุนแรงเกินกว่าเหตุ