เวลา 06.56 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงร่วมงานวันครบ 9 รอบ (108 ปี) แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้น ทรงบาตรพระสงฆ์ จำนวน 10 รูป บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะผู้บริหาร, คณาจารย์, บุคลากร, นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน ภายหลังทรงบาตร ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคณาจารย์ และบุคลากรแต่ละคณะ และสาขาวิชาต่าง ๆ
โอกาสนี้ คณาจารย์ บุคลากร นิสิต และนิสิตเก่าจุฬาฯ เฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของ แล้วทรงปลูกต้นจามจุรี ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 1 ต้น
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังหน้ามุขหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ, ผู้แทนคณาจารย์, บุคลากร, นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568
โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสในการสนับสนุนการดำเนินงานช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษา ที่นอกจากจะให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และนานาประเทศ จากนั้น ประชาคมจุฬาฯ ที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาท ร่วมกันขับร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เพลงประจำมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชนิพนธ์เพลง และพระราชทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อจากนั้น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กราบบังคมทูลประกาศราชสดุดีในฐานะที่ทรงเป็นศิษย์เก่าเกียรติภูมิดีเด่น และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย "เข็มพระเกี้ยวเพชรชมพู" เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ, ศาสตราจารย์วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโล่ "ศิษย์เก่าเกียรติภูมิดีเด่น" ในฐานะที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เนื่องในโอกาสฉลอง 108 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ โดยวงมหาดุริยางค์ไทยเยาวชนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การอ่านทำนองเสนาะและการบรรเลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ระบำถวายพระพร เฉลิมพระเกียรติ และการขับร้องและบรรเลงดนตรีไทย ชุด "ค้างคาว" บทพระราชนิพนธ์และการแสดงพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวงสายใยจามจุรี และวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงประกอบโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โอกาสนี้ ทรงซอด้วง ร่วมกับวงสายใยจามจุรี และวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังโถงอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ทรงเปิดแพรคลุมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งนี้ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เป็นอาคารสำคัญหลังแรกที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยฯ นับตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี 2458 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้งให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละสมัย
ในปี 2566 ได้บูรณะและเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประดิษฐานยังสถานที่อื่น เมื่อบูรณะแล้วเสร็จ จึงเชิญกลับมาประดิษฐาน ณ โถงอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและสง่าราศีแห่งอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัยฯ สืบไป
ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "เรือนไทยอรุณโรจนา" ซึ่งนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเข้าศึกษาปีการศึกษา 2516 ได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ้านทรงไทย "อรุณโรจนา" เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทย และใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และบุคลากร รวมถึง ประชาชนทั่วไป โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่ออาคารฯ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาส "50 ปี น้องใหม่ จุฬาฯ 2516"
เวลา 17.10 น. เสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนอนุบาลไผทวิทยา (มูลนิธิชัยพัฒนา) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ พระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
จากนั้น พระราชทานเกียรติบัตรแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับรางวัล จำนวน 91 คน แล้วพระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้แทนนักเรียนเข้าใหม่ เฝ้าทูลละอองพระบาทถวายตัวเป็นนักเรียน จำนวน 40 คน และผู้แทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 25 คน เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน ประกอบด้วย การขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ในบทเพลง "ชะตาชีวิต", การแสดงประกอบเพลงปลุกใจ "รักกันไว้เถิด" และละครร้อง เรื่อง "พระสุพรรณกัลยา" ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิชัยพัฒนา รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมกิจการโรงเรียนอนุบาลไผทวิทยา ซึ่ง นางทัศนีย์ ไผทฉันท์ ร่วมกับ บริษัท แฟกซ์ ไลท์ จำกัด น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิฯ ดำเนินกิจการโรงเรียนฯ ต่อเนื่อง โดยมูลนิธิฯ ได้โอนกิจการโรงเรียนเป็นชื่อมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อปี 2562 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อ "โรงเรียนอนุบาลไผทวิทยา (มูลนิธิชัยพัฒนา)" ปัจจุบัน มีอายุครบ 73 ปี เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 2,066 คน ครูและบุคลากร รวม 97 คน
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิชาการของนักเรียนที่ได้รับรางวัลระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามรูปแบบปกติ มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School และได้จัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้น "วิชาการควบคู่คุณธรรม" อาทิ โครงการเด็กดี ศรีไผท ให้ความรู้ อบรม สั่งสอน ส่งเสริมให้ขวัญกำลังใจ และคัดเลือกนักเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีในทุกห้องเรียน มีกิจกรรมการเข้าค่ายธรรมะ โครงการส่งเสริมเรื่องการออม การฝึกระเบียบวินัยและการฝึกมารยาทไทย, การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ACTIVE - LEARNING มีกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล รวมทั้ง เน้นจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก รวมถึง มีนโยบายให้ครูวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อปรับปรุงแก้ไขและเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมเสริมตามความสนใจของนักเรียนในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้ง ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมแข่งขันความสามารถทางวิชาการในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งภายในและนอกโรงเรียน โดยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนสอบได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ และสอบได้คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่าระดับประเทศ โดยปีการศึกษา 2568 จะจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียน มีนิสัยรักการอ่าน ฝึกการอ่าน การเขียน การพูดภาษาไทยให้ถูกต้อง และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความประพฤติและกิริยามารยาทตามวิถีไทย
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรห้องครัวที่ปรับปรุงใหม่ ทดแทนห้องครัวเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 50 ปี เพื่อให้ถูกต้องตามสุขลักษณะที่ดี ด้วย