วลา 08.43 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทรงเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 โอกาสนี้ พระราชทานถ้วยรางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ NSTDA Micro-mouse contest, ผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16, ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 26 และผู้ชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27 รวม 21 รางวัล
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคมนี้ ภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน" เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัย สร้างความตระหนัก แรงบันดาลใจ และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI นำเสนอความก้าวหน้าและผลกระทบของเทคโนโลยี AI ต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ
จากนั้น ทรงเปิดนิทรรศการ "โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" และนิทรรศการความก้าวหน้างานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ "โครงการ National AI Strategy" หรือ "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570)" เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน เช่น ส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง และนักเรียนพิการตามพระราชดำริ ที่ทรงส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการใน 10 โรงเรียนนำร่อง ตั้งแต่ปี 2561 และในปี 2567 ขยายขอบเขตสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่าน KidBright AI Platform และบอร์ด KidBright μAI ซึ่งนักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ส่งผลงานไปแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลจาก "เครื่องฝึกสะกดนิ้วมือสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องพร่องทางการได้ยินด้วย AI", โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง “เกษตรอัจฉริยะ” โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ที่เรือนจำชั่วคราวหนองกระทิง จังหวัดลำปาง และเรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย จังหวัดหนองบัวลำภู สอนให้ผู้ต้องขังประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ HandySense ช่วยคำนวณปริมาณการใช้น้ำในแปลงเกษตร
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ ได้พระราชทานให้ ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์พัฒนลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ตามพระราชดำริฯ
โครงการเรียนรู้สะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม จังหวัดน่าน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์หวายในจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพืชสำคัญต่อระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ
การพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนแบบองค์รวม เช่น ไฮโดรเจนชีวภาพ ที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพ และของเสียทางการเกษตร ช่วยลดของเสีย สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งศึกษาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว จากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนนำไปสู่พลังงานสะอาด, ข้าวสายพันธุ์ใหม่กับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เอง
การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยการแพทย์จีโนมิกส์ เป็นการรักษาสมัยใหม่ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละบุคคลในการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างแม่นยำ เน้น 5 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหายาก โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ สวทช. ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลจีโนมให้แพทย์นำไปใช้จริง เทคโนโลยีนี้ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา ป้องกันโรคล่วงหน้า และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น, Gunther IMU และ Janine Application อุปกรณ์และแอปพลิเคชันแจ้งเตือนท่าทางและการพลัดตกหกล้ม จะแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบว่าผู้ใช้อยู่ในท่าทาง หรือมีการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ช่วยปรับท่าทางให้ถูกต้องและปลอดภัย
นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงเลี้ยงของกองพันทหารราบ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แก้ปัญหาการจัดการน้ำเสียที่ยังไม่สมบูรณ์ของโรงเลี้ยง
เวลา 14.33 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวนิภา พรฤกษ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ นำครู ผู้ปกครอง นักเรียนโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ คณะกรรมการสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะกรรมการมูลนิธิเซนต์ฟรัง 35 และคณะกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครูเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจัดงาน "หนึ่งศตวรรษ จรัส พระพร เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์" และเงินรายได้จากการจัดงานเดินเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
เวลา 14.58 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังศาลาผกาภิรมย์ โรงเรียนจิตรลดา สวนจิตรลดา ในการพระราชทานประกาศนียบัตร และรางวัลเรียนดีแก่นักเรียนชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ของโรงเรียนจิตรลดา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ประจำปีการศึกษา 2567 โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนใหม่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปีการศึกษา 2567 พร้อมผู้ปกครอง และครูใหม่ ปีการศึกษา 2567 เฝ้าทูลละอองพระบาทถวายตัว
จากนั้น พระราชทานเข็มโรงเรียนจิตรลดาแก่ครูที่ปฎิบัติหน้าที่ครบ 25 ปี, พระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียน นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2567, พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนอนุบาลที่มีพัฒนาการดีและมารยาทดี, นักเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่มีผลการเรียนดีตลอดปีการศึกษา, พระราชทานเกียรติบัตร แก่นักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันด้านวิชาการ กิจกรรม กีฬา และทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 อาทิ นักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในระดับชาติ นักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเด็กและเยาวชนดีเด่น ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียน และนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสสำเร็จการศึกษา พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพระราโชวาท เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คณะครู นักเรียน และนักศึกษา
โรงเรียนจิตรลดา ตั้งขึ้นตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2498 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ เจ้านายชั้นสูงได้ทรงพระอักษรร่วมกับพระสหาย ซึ่งเป็นสามัญชน โดยนักเรียนโรงเรียนจิตรลดาไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ ทรงเปิดโอกาสให้รับนักเรียนคละกันไป ไม่ว่าจะเป็นด้านวงศ์ตระกูล พื้นฐานความรู้ หรือสติปัญญา มิได้ทรงเน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่คุณธรรมและความประพฤติที่ดีถือเป็นส่วนสำคัญในการอบรมนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา นอกจากนั้น ทรงแนะนำให้โรงเรียนมีการติดต่อกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบความเป็นไปและปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับนักเรียนในปกครอง ถือเป็นหลักสำคัญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานบริหารโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2526 ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในด้านต่าง ๆ ในปี 2547 ทรงขยายการจัดการศึกษาประเภทอาชีวศึกษา โดยแยกไปจัดตั้งโรงเรียนจิตรลดา สายวิชาชีพ ณ สนามเสือป่า พระราชวังดุสิต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาส่งเสริมพัฒนาการศึกษาวิชาชีพ เพื่อสร้างเยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ