พม.ทุกจังหวัด เปิดเป็นศูนย์พักพิง รองรับ กลุ่มเปราะบาง เข้าหลบภัย เตรียมที่นอน อาหาร น้ำ ให้พร้อม
วันนี้ (29 มี.ค.68) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบในวงกว้างนั้น ได้รับรายงานจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ซึ่งมีหมายเลขโทรสายด่วน 1300 ว่า มีประชาชนติดต่อเข้ามาเพียงไม่กี่รายเท่านั้น โดยเป็นการเข้ามาสอบถามสถานการณ์โดยทั่วไปและเบอร์โทรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำขึ้นอีก พร้อมกำชับให้ทุกหน่วย จัดเตรียมพื้นที่รองรับ จัดหาน้ำดื่ม อาหาร เตรียมพร้อมรองรับพี่น้องกลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่จะเข้ามาใช้บริการหากเกิดเหตุจำเป็น
สำหรับการสำรวจความเสียหายหน่วยงานในส่วนของกระทรวงพม. พบว่าได้รับผลกระทบน้อย โครงสร้างที่ทำการของหน่วยงาน พม. ที่อยู่ทั่วประเทศก็มีเสียหายบ้างเล็กน้อย เช่น อาคารมีรอยร้าว ยังสามารถปฏิบัติการได้ตามปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยก็ได้ให้ประสานฝ่ายโยธาในแต่ละจังหวัดให้มาช่วยตรวจสอบเพื่อความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ได้ออกสำรวจกลุ่มเปราะบางว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยให้ติดต่อโดยตรงตามบ้านของกลุ่มเปราะบาง ที่เรามีข้อมูลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่คนเดียว เด็กเล็ก พร้อมกับให้สอบถามด้วยว่าได้รับผลกระทบเรื่องที่พักอาศัย หรือได้รับบาดเจ็บ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างไร มีความลำบากอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ในส่วนพัฒนาสังคมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับชายแดนมาก เพราะจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา อาจจะได้รับความเสียหายมากกว่าจังหวัดอื่น รวมไปถึงพัฒนาสังคมจังหวัดที่อยู่ชายแดนแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทยคงต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องขวัญกำลังใจ และสภาพจิตใจของพี่น้องกลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม.เองด้วยที่ต้องดูแลตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ดูแลพี่น้องกลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจนตัวเองกลายมาเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ดังนั้นจะต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทุกคน
อย่างก็ตาม ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable (DCCV)ในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
“จะได้ใช้โอกาสนี้ติดตามความคืบหน้าในการดูแลพี่น้องกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งการรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่าเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้กับทุกๆฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวง พม.เราเห็นว่าหากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นแล้วเกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเราควรจะต้องทำอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการแล้วทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ“