ลงสนามจริงครั้งแรก “น้องใบเตย” หุ่นยนต์กู้ภัยจากพระนครเหนือ ร่วมภารกิจค้นหาใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม เพื่อนำภาพแผนที่เรียลไทม์ สนับสนุนทีมกู้ภัย
(29 มี.ค.68) ทีม irap (ไอราฟ ) โรบอท ของคณะอาจารย์ และน้องๆ นักศึกษาชั้นปริญญาตรี และปริญญาโทมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กว่า 20 คน ได้นำ “น้องใบเตย” หุ่นยนต์กู้ภัย มาเข้าร่วมในภารกิจการค้นหาผู้สูญหาย ที่อยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง ทำหน้าที่เข้าไปสำรวจในซากอาคารแทนใช้คน เพื่อป้องกันกรณีเกิดการทรุดตัวของโครงสร้างพังทลายลงแทน หุ่นยนต์เสียหาย ดีกว่าเกิดความสูญเสียด้านชีวิต
สำหรับน้องใบเตย สามารถเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นหุ่นยนต์ตีนตะขาบ ที่มีคุณสมบัติสามารถเคลื่อนที่ได้ภายใต้ข้อจำกัดหลายแบบ ทั้งบันได จุดที่มีอุปสรรคต่างๆ หุ่นยนต์กู้ภัยจะสามารถเข้าไปได้ทั้งหมด
และระหว่างที่หุ่นยนต์เคลื่อนที่ จะทำการแสกนพื้นที่รอบ ๆ ในระยะ 400 เมตร หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาสร้างแผนที่แบบเรียลไทม์ขึ้นมา จากนั้นสามารถนำแผนที่มาให้กับทีมกู้ภัย ใช้ในการวาวแผนการทำงานได้ ว่าจะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร
นอกจากนี้น้องใบเตย ยังมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดคาบอนไดออกไซด์ ที่ออกมาจากสิ่งมีชีวิต บริเวณไหนที่มีคาบอนไดออกไซด์ที่เข้มข้น หุ่นยนต์จะสามารถรับรู้ได้ และที่หุ่นยนต์ยังมีกล้องแสกนความร้อน เพื่อตรวจสอบดูว่าจุดไหนร้อน จุดไหนเย็น ถ้าเห็นจุดความร้อน แสดงว่าจุดนั้นอาจจะมีผู้รอดชีวิต หรือผู้ประสบภัยอยู่บริเวณนั้นได้
สำหรับภารกิจค้นหาในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของน้องใบเตย ที่ใช้ลงพื้นที่สนามจริง ที่ผ่านมาจะใช้ในการแข่งขันกู้ภัยในระดับโลกมาแล้วกว่า 10 ปี เพราะในประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน นี่จึงเป็นครั้งแรกของภารกิจใช้หุ่นยนต์กู้ภัยร่วมค้นหา