สนามข่าว 7 สี - หลังอาคาร สตง. พังถล่ม หลายคนพุ่งเป้าไปที่ความโปร่งใสของบริษัทร่วมค้าของประเทศจีนที่ร่วมก่อสร้างอาคาร
อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น อยู่ติดกัน 5 คูหา เป็น 1 ในที่ตั้งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) บริษัทร่วมค้าชาวจีนที่ร่วมกับผู้รับเหมาของไทย ก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถนนกำแพงเพชร 2 มูลค่า 2,136 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งอยู่ในซอยพุทธะบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ยืนยันว่า ภายในอาคารนี้มีคนอยู่ ส่วนใหญ่พบลูกจ้างชาวเมียนมาเดินไป-มา แต่เมื่อสอบถามว่าบริษัทแห่งนี้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า น่าจะเป็นบริษัทขายยางรถยนต์ เพราะเห็นขนส่งยางรถยนต์อยู่เป็นประจำ
หลักฐานอีกอย่างที่บ่งชี้ว่ามีคนอยู่ในตึก คือ ไรเดอร์ที่มารอส่งอาหาร บอกกับทีมข่าวว่า ปกติเวลามาส่งของที่อาคารแห่งนี้ ต้องโทรศัพท์เรียกให้คนในอาคารลงมารับทุกครั้ง แล้วแต่ละครั้งจะใช้เวลารออยู่พอสมควร
ส่วนข้อถกเถียงกรณีตึก สตง. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มตึกเดียวหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่าเป็นผลจากโครงสร้างและรูปแบบอาคาร หรือ วัสดุไม่ได้มาตรฐาน
ล่าสุด ตามเอกสารแจ้งข่าวสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงข่าวเรื่องการปรับโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลงว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าการออกแบบทำตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคาร มีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 X 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร เพื่อรองรับน้ำหนักหลังคาตึก ทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้
ขณะที่ ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบตลอดทั้งวัน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พบวัสดุก่อสร้างอาคารหลายตัวที่ได้มาตรฐาน (มอก.) แต่ไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะเหล็กที่พบมีทั้งหมด 6 ประเภท ส่วนใหญ่ถูกผลิตจากผู้ผลิตรายเดียว แต่มีเหล็กบางประเภทมาจากผู้ผลิต 3 ยี่ห้อ จึงเก็บตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กฯ ว่า มีคุณภาพเพียงพอในการก่อสร้างหรือไม่
โดย นายเอกนัฏ ไม่ขอตอบว่าเป็นเหล็กปลอมหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเห็นความผิดปกติ ซึ่งยังไม่ตัดสาเหตุใดทิ้ง ขอตรวจสอบก่อนว่าเหล็กเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และเมื่อผลตรวจออกจะส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ บอกได้คำเดียวว่า "แค่เห็นผมก็อึ้งแล้วครับ"
สำหรับเหล็กทั้งหมดที่ได้มาจากไซต์งานจะถูกนำไปตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ITSI) ได้เชิญสื่อเข้าร่วมตรวจสอบในวันนี้ (31 มี.ค.) หากพบว่าเหล็กที่มีปัญหามาจากผู้ผลิตรายใด ก็จะต้องสั่งให้โรงงานหยุดปรับปรุง ไปจนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต มอก. และจะไม่สามารถนำเหล็กไปจำหน่ายได้ ต้องเรียกคืนเหล็กทั้งหมด และถูกดำเนินคดี