ข่าวเย็นประเด็นร้อน - พฐ. รับลูก กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเสารับน้ำหนักหน้าอาคาร สตง. ประกอบสำนวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง
ผู้บังคับการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นำทีมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจคนแผ่นดินที่พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นจากเสาที่รองรับน้ำหนัก บริเวณด้านหน้า อาคาร 4 ต้น นอกจากนี้พบอาคารรอง รอบ ๆ ตัวอาคาร สตง. บริเวณชั้น 4 ที่ไม่ได้พังถล่ม ยังมีเอกสารและโน้ตบุ๊กที่ใช้จัดซื้อวัสดุก่อสร้าง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ครบถ้วน จุดนี้เป็นจุดที่ชาวจีน 4 คน แอบนำเอกสาร 37 แฟ้ม ออกมาจากด้านหลังตึก โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม
และถือเป็นเอกสารสำคัญในคดี แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปเก็บพยานหลักฐานได้ เพราะต้องหารือกับกรุงเทพฯ ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัยเพียงใด
สำหรับตัวอย่างเหล็กเส้นที่ใช้ในการสร้างอาคาร เจ้าหน้าที่ พฐ. จะนำผลการตรวจพิสูจน์ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มาใช้ประกอบสำนวนคดี เพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง
ขณะที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้รับตัวอย่างเหล็กจากไซต์งานก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ พบว่ามีเหล็กทั้งหมด 28 เส้น ซึ่งเหล็กที่นำมาตรวจสอบสังเกตได้ว่ามีบางเส้นนี้โค้งงอ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากซากปรักหักพัง เบื้องต้นแจ้งว่าใช้เวลาตรวจสอบ 3 ชั่วโมง คาดว่าภายในวันนี้ (17.00 น.) จะทราบผล
ขณะที่ผลสำรวจตึกสูงในกรุงเทพ กว่า 13,000 ตึก ตรวจแล้วกว่า 12,000 ตึก พบกว่า 9,000 ตึก ได้สัญลักษณ์สีเขียว มี 2 ตึก ให้สัญลักษณ์สีแดง ห้ามพักอาศัย ส่วนอีกกว่า 400 ตึก ให้สัญลักษณ์สีเหลือง คือ ให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบโดยละเอียด
ด้าน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตนายกสมาคมวิศวกร เปิดใจกับทีมข่าว 7HD ว่า สาเหตุของตึกถล่มในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเพื่อความแน่ชัด ควรเรียกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมานั่งคุยกัน โดยมุ่งไปที่ 1. วิศวกรผู้ออกแบบคำนวณการรับน้ำหนักอย่างไร 2. การก่อสร้าง ใช้วัสดุที่ผู้คำนวณกำหนดไว้หรือไม่ และ 3. มีการเก็บตัวอย่างวัสดุที่ใช้ว่าได้มาตรฐานหรือไม่
และสิ่งที่หลายคนกังวลใจ คือ คุณภาพโครงการของตึกอาคารที่อยู่อาศัยว่าจะสามารถวางใจได้อย่างไร ว่าจะยังอยู่อาศัยได้ตามปกติ โดย ดร.เอ้ ให้ความมั่นใจ บอกว่า หากให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วไม่พบปัญหา ก็สามารถอาศัยได้ตามปกติ แต่ผู้อาศัยก็ต้องหมั่นตรวจสอบอีกครั้งว่ามีรอยแตก ชำรุด ผุพังเพิ่มเติมหรือไม่