จุฬาฯ ระดมนักวิชาการ ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอ คาดเกิดขึ้นอีกในแนวรอยเลื่อนสะกาย เร่งสร้างความตระหนักรู้ ฟื้นตัวจากภัยพิบัติ
วันนี้ (1 เม.ย.68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 หัวข้อ "จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตเเผ่นดินไหว เราจะรับมือเเละฟื้นตัวได้อย่างไร” ณ เรือนจุฬานฤมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน
ศ. ดร. วิเลิศ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีบทบาทเฉพาะเรื่องการศึกษาในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติจริง ควบคู่กับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่ต้องให้ความรู้ คือ การจัดการในภาวะวิกฤต ทุกคนต้องเรียนรู้วิธีในการจัดการตนเอง เพื่อให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ
โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนที่นำไปสู่การเกิดแนวทางว่า หากเกิดวิกฤตลักษณะนี้ จะตั้งรับและปรับตัวอย่างไร ซึ่งวันเกิดเหตุ จุฬาฯ สั่งอพยพทุกคนออกจากอาคารทันที และใช้ศูนย์กีฬาเป็นที่พักพิงชั่วคราวของนิสิตบุคลากร และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จึงให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพอาคาร ซึ่งไม่พบว่า มีอาคารหลังใด อยู่ในเกณฑ์สีแดง และเสนอให้มีศูนย์กลางสื่อสารยามวิกฤต เพื่อป้องกันข่าวลือข่าวลวง
“วันนี้ข่าวลือเต็มไปหมด ดังนั้นควรมีศูนย์กลางในการให้ข่าวเพียงคนเดียว ต้องเป็นผู้รู้และรวบรวมข่าวทั้งหมด” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ด้าน ศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เเผ่นดินไหวครั้งนี้ สร้างความสั่นไหวและส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ มากที่สุดเท่าที่เคยสัมผัส โดยกรุงเทพฯ มีชั้นดินอ่อนที่อยู่ใต้ดิน ลึกประมาณ 20 เมตร และหนาประมาณ 20 เมตร ซึ่งดินอ่อนนี้ไปซึมซับคลื่นแผ่นดินไหวให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น
ขณะที่รอยเลื่อนสะกาย นับว่าเป็นรอยเลื่อนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อว่าในอนาคตมีโอกาสเกิดเเผ่นดินไหวขึ้นอีก แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่า จะเป็นจุดไหนของรอยเลื่อนและเกิดขึ้นอีกเมื่อใด ส่วนแผ่นดินไหวในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดเเม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 30 เเละ 31 มีนาคม 2568 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ขนาด 8.2 ไม่ได้เป็นผลจากอาฟเตอร์ช็อก แต่เชื่อว่าเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ของรอยเลื่อนเเม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ขนานกับรอยเลื่อนสะกาย
นักวิชาการด้านธรณีวิทยา เปรียบเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เสมือนเหรียญสองด้าน เหรียญด้านหนึ่ง มองว่า กรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย เพราะเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ดังนั้น ต้องถอดบทเรียนและนำไปสู่การแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกันต่าง ๆ ยืนยันว่า คนไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
รศ. ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายบังคับมาตรฐานของการก่อสร้างอาคารอยู่แล้ว หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้น เชื่อว่า ไทยจะมีความปลอดภัยเพียงพอ ทั้งนี้ ในอดีตคนไทยยังไม่เคยประสบเหตุแผ่นดินไหว จึงอาจละเลยและหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้
“แผ่นดินไหวช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเชื่อว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหว จึงหวังว่า วันนี้ทุกคนจะรับรู้และตระหนัก จนนำไปสู่การเตรียมตัว ปฏิบัติตามกฎและกติกา และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย” นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา ระบุ
ขณะที่ รศ. ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาคารย่อมได้รับความเสียหาย จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แต่คำถาม คือ ความเสียหายนั้น ใครต้องรับผิดชอบ หรือเยียวยา
มีข้อแนะนำเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม กรณีตรวจสอบพบว่า สาเหตุเกิดจากภัยพิบัติจริง ๆ ต้องย้อนกลับไปดูสัญญากรมธรรม์ เพราะนิติบุคคลจะทำกรมธรรม์ไว้ครอบคลุมทรัพย์สินส่วนกลาง และบางนิติบุคคลจะทำครอบคลุมทรัพย์สินลูกบ้านด้วย
นอกจากนี้ ลูกบ้านบางคนจะมีกรมธรรม์อีกฉบับที่ทำไว้กับธนาคาร ส่วนกรณีเพิ่งเข้าอยู่ได้ไม่นาน และห้องได้รับความเสียหาย จะมีกรมธรรม์ประกันชำรุดบกพร่อง แต่หลักกฎหมายทั่วไป จะไม่ครอบคลุมภัยธรรมชาติ เว้นแต่บางสัญญามีการตกลงกันไว้ว่า รับความเสียหายทุกกรณี
สุดท้าย ศ. ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอให้คนไทยอย่าตื่นตระหนก เพราะไม่มีทางที่อาฟเตอร์ช็อกจะรุนแรงกว่าแผ่นดินไหวหลัก ส่วนโอกาสที่จะเกิดสึนามิครั้งใหม่ เชื่อว่า จะไม่ได้รับความเสียหายมากเท่าคราวก่อน เพราะคนไทยมีความรู้มากขึ้น และสามารถอพยพได้แน่นอน ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีทุ่นเตือนภัยก็ตาม เช่นเดียวกับแผ่นดินไหว ครั้งต่อไป