ข่าวภาคค่ำ - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมนักวิชาการถอดบทเรียนรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต เสนอตั้งองค์กรกลางสื่อสารยามวิกฤต
ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 "จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตเเผ่นดินไหว เราจะรับมือเเละฟื้นตัวได้อย่างไร” หลังเกิดแผ่นดินไหว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนรับมือทันที เร่งอพยพทุกคนออกจากอาคาร พร้อมตั้งศูนย์กีฬาเป็นที่พักชั่วคราว สำหรับนิสิต บุคลากร และตรวจสอบโครงสร้างของอาคารทันที
เวทีเสวนานักวิชาการ ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ สร้างความสั่นไหวและส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ มากที่สุดที่เคยสัมผัส เพราะเป็นแอ่งดินอ่อน ที่ได้รับแรงสั่นไหวจากรอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อว่าในอนาคตมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเป็นจุดไหนของรอยเลื่อนและเกิดขึ้นอีกเมื่อใด
ส่วนแผ่นดินไหวในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 30 และ 31 มีนาคม 2568 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ขนาด 8.2 ไม่ได้เป็นผลจากอาฟเตอร์ช็อก แต่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดเล็กของรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ขนานกับรอยเลื่อนสะกาย
ในเวทีเสวนา เสนอให้มีองค์กรกลางในการสื่อสารยามวิกฤต ร่วมพัฒนาวิธีไม่ให้ผู้ประสบเหตุตื่นตระหนก ไม่เชื่อในข่าวปลอม จัดการวิกฤตได้ทันท่วงที ที่สำคัญบังคับใช้กฎหมายก่อสร้างอาคารอย่างเข้มข้น