น้ำผุดกลางลำห้วยทั้งที่ยังไม่ถึงฤดู! เป็นปรากฏการณ์ผิดปกติครั้งแรกในรอบหลาย 10 ปี ที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ คาดเกิดจากแผ่นดินไหว
วันที่ 2 เมษายน 2568 นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เปิดเผยถึงเหตุการณ์ผิดปกติในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่าที่ มค.22 (ดอยเวียง) พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) บ้านธิ ได้ร่วมกันลาดตระเวนไฟป่าตามภารกิจประจำ ที่บริเวณเส้นทางอ่างแม่ธิ - น้ำตกห้วยหก ระหว่างการลาดตระเวน เจ้าหน้าที่ได้พบปรากฏการณ์ผิดปกติที่บริเวณจุดพักแรมชั่วคราวริมลำห้วยน้ำตกห้วยหก พิกัด 47Q 522480 UTM 2058860 ในท้องที่ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ โดยพบว่ามีน้ำไหลในลำห้วย ซึ่งตามปกติลำห้วยนี้จะแห้งในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม - พฤษภาคม) และจะมีน้ำไหลเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวได้รายงานผ่านกลุ่มไลน์ "หมอกควันไฟป่าบ้านธิ" ทำให้ข่าวแพร่กระจายและเป็นที่สนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากผลกระทบภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
นายกันย์ จำนงค์ภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ รายงานว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว ทางอุทยานฯ ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยฯ มค.4 (แม่ผาแหน) และหน่วยฯ มค.5 (แม่ตีบ-แม่สาร) เข้าดำเนินการสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 เพื่อตรวจสอบสภาพทางกายภาพ ระบุตำแหน่งที่แน่ชัด และบันทึกภาพถ่ายของน้ำที่ไหลออกมา เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงและประเมินความปลอดภัยของพื้นที่.อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตภูเขาและหุบเขาสูงชัน การเข้าถึงพื้นที่ทำได้ยากลำบาก ทำให้ทีมสำรวจยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงาน และยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งทางอุทยานฯ แจ้งว่า หากมีความคืบหน้าใดจะรายงานให้ทราบต่อไป พร้อมทั้งมีแผนที่จะประสานงานกับนักธรณีวิทยาให้เข้าตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
นายกันย์ ยังเน้นย้ำว่า ช่วงเวลานี้ยังอยู่ในสถานการณ์ไฟป่า ซึ่งทางอุทยานฯ และชุมชนได้ร่วมมือกันป้องกันมิให้เกิดไฟป่าในพื้นที่มาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว การอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่โดยไม่มีการควบคุมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ จึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดการเข้า-ออกพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์น้ำผุดกลางลำห้วยที่แห้งขอดในฤดูแล้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และสร้างความประหลาดใจให้กับทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงนักอนุรักษ์ที่ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด