FTA ฉบับที่ 17 ของไทยกับภูฎาน ส่งผลดีต่อสินค้า ยานยนต์ ชิ้นส่วน สินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่ง สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า
เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีของภูฏาน ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ร่ะหว่าง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับนายนำเยล ดอร์จิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานของภูฏาน ณ ทำเนียบรัฐบาล
โดย FTA ฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 17 ของไทย และ ภูฏานถือเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ได้ทำ FTA กับไทย ต่อจากอินเดียและศรีลังกา ถือเป็นตลาดศักยภาพแห่งใหม่ ที่มีความต้องการซื้อสินค้าไทย ซึ่งจะช่วยขยายฐานตลาดส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในสินค้า เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าของภูฏาน ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่นมันฝรั่ง ชาเขียว แยมและเยลลี่ผลไม้และน้ำผลไม้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทย จะมีแหล่งวัตถุดิบทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จากการที่ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบจากภูฏาน เช่น แร่ธาตุ ถั่งเช่า เห็ดมัตซึทาเกะ ผักและผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย รวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยจะมีทางเลือกบริโภคสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
โดยตั้งเป้าให้ FTA ไทย – ภูฏาน มีผลใช้บังคับได้ภายในวันที 1 มกราคม 2569 จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทย ศึกษาโอกาสและแนวทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ภูฏานเพื่อเตรียมใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อ FTA มีผลใช้บังคับ