พาไปชมดอกไม้ทะเลหลากสีสัน ซึ่งไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ทะเล ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
เพจเฟซบุ๊ก "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" ได้โพสต์ภาพดอกไม้ทะเล พร้อมระบุข้อความว่า "ดอกไม้ทะเล หรือ ซีแอนนีโมนี (Sea Anemone) ไม่ใช่พืชแต่เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวอ่อนนุ่ม อยู่ในกลุ่มเดียวกับ แมงกะพรุน ปะการัง ปะการังอ่อน ทั่วโลกพบมากกว่า 1,000 ชนิด
แต่ละชนิดจะมีหนวดที่แตกต่างกันอาศัยอยู่ตามพื้นหินหรือทรายที่มั่นคง มีสีสันสวยงามอยู่ใต้ท้องทะเล โดยมีปลาการ์ตูนอาศัยอยู่ร่วมกัน มีลักษณะความสัมพันธ์แบบเกื้อกูล
หากนักดำน้ำพบดอกไม้ทะเลและสัมผัสบริเวณที่มีพิษอาจเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับภัยที่อาจเกิดจากความสวยงามของดอกไม้ทะเลที่เป็นสีสีนของท้องทะเล
พิษของดอกไม้ทะเลอาวุธที่สำคัญของดอกไม้ทะเลคือเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตสิสท์ (nematocyst) ซึ่งจะอยู่ตามบริเวณหนวดใช้สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ
เมื่อถูกหรือสัมผัสจะมีอาการเจ็บและปวดในจุดที่สัมผัส พิษของดอกไม้ทะเล ที่มีไว้เพื่อจับสัตว์ทะเลเล็กๆ กินเป็นอาหาร เมื่อปลาเล็กๆ สัมผัสกับพิษที่ปลายหนวดของดอกไม้ทะเลจะทำให้เป็นอัมพาตแล้วก็ตาย แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล หากคนสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นแดงและคันบริเวณที่สัมผัส ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้เกิดอาการบวม แดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากโดนเข็มพิษของดอกไม้ทะเล ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล และพยายามล้างเอาเมือก และชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดลงให้นำส่งแพทย์โดยด่วน การป้องกันการป้องกันที่ดีทีสุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดอกไม้ทะเล จะทำให้นักดำน้ำปลอดภัยจากการโดนเข็ม