สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - นอกจากภารกิจค้นหาผู้สูญหาย สิ่งที่ทำควบคู่กันไปก็คือเรื่องการดำเนินคดี โดยเฉพาะ DSI ที่รับคดี "นอมินี" เป็นคดีพิเศษแล้ว พร้อมเปิดหลักฐานให้ดูว่าทำไมถึงตัดสินใจทันที
ประชุมนัดแรกคดี นอมินี ก่อสร้างตึก สตง.
ในการประชุมที่มีการนำเอาหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่เกิดการพังถล่ม เพราะแผ่นดินไหว มาพูดคุยกัน
ที่น่าสนใจคือชื่อของ นายประจวบ พบว่าเป็น 1 ใน 3 ผู้ถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ข้อมูลพบถือหุ้น 10.2% จึงไปตรวจสอบที่บ้านพักจังหวัดร้อยเอ็ด พบแต่ภรรยา ส่วนนายประจวบ ออกจากบ้านไปก่อนหน้านี้ 2-3 วันแล้ว
ที่ดูจะขัดแย้ง เพราะนายประจวบ มีอาชีพรับจ้างก่อสร้าง รายได้ 10,000 บาทต่อเดือน จึงเชื่อว่า นายประจวบ เป็นผู้ถือหุ้นอำพราง อีก 2 คนที่ถือหุ้น คือ นายโสภณ และนายมานัส อยู่ระหว่างการติดตามตัว เช่นเดียวกับนายประจวบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เดิมมีผู้ถือหุ้น 3 คน คนแรก นายมนัส ถือหุ้น 306,000 หุ้น จากนั้นโอนให้ นายโสภณ จนหมด ตัวเองเหลือเพียง 3 หุ้น ทำให้ นายโสภณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวม 407,997 หุ้น และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปอีก พบว่าทั้ง 3 คน ไม่เคยรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่ได้เป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่และรับงานภาครัฐได้อย่างไร
สำหรับรายชื่อโครงการการก่อสร้าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ก่อสร้างอาคารภาครัฐ 29 แห่งทั่วประเทศ มูลค่ารวม 22,000 ล้านบาท และดีเอสไอ ขอเวลา 2 เดือน ตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมดว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT พบข้อสงสัยจากข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บไซต์โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. พบว่า รายชื่อผู้เสนอราคารับเหมาก่อสร้างอาคาร สตง. มี 6 บริษัท แต่กลับไม่มีชื่อบริษัท ITD-EREC ที่เป็นผู้ชนะการประมูล อยู่ในหน้ายื่นเอกสารร่วมประมูล อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้อาจผิดพลาด จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยชี้แจง
ผลสอบตึก สตง.ถล่ม ต้องใช้เวลาเป็นเดือน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับแล้วว่า ต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการตรวจสอบหาสาเหตุตึก สตง.ถล่ม
เย็นวานนี้ (4 เม.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประชุมกับหลายฝ่าย เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง และนายกสภาวิศวกร ผู้แทนจากวิศวกรรมสถาน เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุตึก สตง.ถล่ม กำหนดกรอบไว้แค่ 7 วัน ต้องสรุป หลังการประชุม นายอนุทิน ยอมรับว่า 7 วัน ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิศวกรรม และข้อมูลด้านอื่น ๆ ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการออกแบบอาคารให้ทนต่อแรงแผ่นดินไหวว่าเป็นไปมาตรฐานหรือไม่
ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จะหารือให้พิจารณาหลักเกณฑ์เงินเยียวยา เพื่อให้เกิดความเหมาะสม อาจจะใช้เงินจากส่วนอื่นมาสนับสนุน รูปแบบเดียวกับการเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม