สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - นอกจากเหตุการณ์ที่กำลังลุ้นกันอยู่นาทีต่อนาที ว่าจะเจอทั้ง 78 ชีวิตไหม? ในโซเชียลฯ ก็พาเราย้อนกลับไปในอดีต ไปดูภาพคลิปเหตุการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งคำถาม ว่าแบบนี้ไม่แหม่ง ๆ ใช่ไหม
เรียกว่าเดือดเลย เหตุการณ์บุกทวงเงินที่หน้าไซต์งานก่อสร้าง ตึก สตง. ก่อนที่จะพังลงมา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยผู้รับเหมากลุ่มนี้เป็น เอาท์ซอร์ซ ที่รับงานมาจากบริษัทคู่กรณี ซึ่งไปรับงานมาจากบริษัทไชน่า เรลเวย์ อีกทอดหนึ่ง แต่ได้ค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา
ตามข้อมูลระบุว่า กลุ่มผู้รับเหมาถูกเรียกมาดำเนินการเรื่องระบบไฟฟ้า ทำอยู่นานกว่า 1 ปี ใช้แรงงานไปกว่า 80 คน แล้วจ่ายเงินให้ไม่ครบ มีการเลื่อนจ่ายหลายครั้ง จนยอดค้างจ่ายพุ่งไปถึง 3 ล้านบาท จนผู้รับเหมาต้องจำนองบ้าน จำนำรถ นำเงินมาจ่ายลูกน้อง
ยังมีเพจฯ "ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย" โพสต์ข้อความว่า "ห้ามจ้างช่วง" พร้อมภาพประกาศข้อกำหนดการจ้างช่วง ใจความสรุปว่า "ทำไม่ได้เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากผู้ว่าจ้าง"
ด้านกิจการร่วมค้า ITD-CREC นัมเบอร์เท็น ออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ 2 ยืนยันคำเดิมว่า การก่อสร้างตึก สตง. ได้ทำ TOR อย่างถูกต้องและพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
มีอีกประเด็นที่เรานำเสนอไปเมื่อวาน เรื่องการตั้งข้อสังเกตจาก ACT องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่าทำไม โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างตึก สตง. มีชื่อผู้เสนอราคารับเหมา 6 บริษัท แต่ไม่มีชื่อ ITD-CREC ทำให้เกิดคำถามว่า กิจการร่วมค้านี้ชนะการประมูลได้อย่างไร
มีคำตอบจากกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า ขั้นตอนประกวดราคาฯ พอมีผู้เสนอราคา ตอนนั้นจะยังไม่ได้ "เลขประจำตัวผู้เสียภาษี" มา จะได้เลขชั่วคราว ก็ต้องรอให้ผู้เสนอราคาชนะการประกวดก่อน จากนั้นถึงจะไปยื่นขอ "เลขประจำตัวผู้เสียภาษี" กับกรมสรรพากรได้ ถึงจะได้นำมาทำสัญญากัน
ดังนั้นทั้งช่วงที่มีการยื่นเอกสาร เสนอราคา และพิจารณาผล เลยไม่ขึ้นชื่อของ ITD-CREC ในหน้าเว็บฯ แต่ไปพบในหน้า "ประกาศการขอข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา" ซึ่งปัญหานี้ กรมบัญชีกลาง จะไปแก้ไขบนหน้าเว็บไซต์ แสดงผลให้ครบถ้วนต่อไป