เช้านี้ที่หมอชิต - ยังอยู่กับภารกิจค้นหาผู้ประสบภัย ใต้ตึก สตง. พังถล่ม ท่ามกลางความหวังของญาติและครอบครัว แม้หน่วยค้นหาจะยอมรับว่า โอกาสพบผู้รอดชีวิตมีน้อยลง แต่ปฏิบัติการค้นหาก็ยังดำเนินการต่ออย่างเข้มข้น พร้อม ๆ กับ เรื่องฉาวผุดขึ้นรายวันของโครงการนี้ รายละเอียดแต่ละเรื่องเดี๋ยวไล่เรียงทีละประเด็น
เร่งเปิดพื้นที่ซากตึก สตง.ค้นหาผู้สูญหาย
ก่อนอื่นมาดูภารกิจค้นหาผู้ประสบภัย ตึก สตง. ถล่ม ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัย ก็เร่งเปิดพื้นที่ทุกโซน แม้จะมีอุปสรรคคือ การเข้าปฏิบัติงานจากด้านล่างอาจเกิดอันตราย จึงต้องวางแผนตัดเปิดพื้นที่ด้านบน โดยนำเครื่องมือหนักเข้าดำเนินการ โดยเฉพาะจุดโถงบันไดโซน B และโซน C ที่พบมีผู้รอดชีวิตออกมาได้ ส่วนโซน A ด้านหน้า กับ โซน D ก็ทำควบคู่กันไปเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า โดยการรื้อถอนซากตึกขณะนี้ก็รื้อถอนออกจากพื้นที่แล้วกว่า 3,500 ตัน จากยอดรวมกว่า 40,000 ตัน
ส่วนภาพรวมการค้นหาผู้ประสบภัย วานนี้ช่วงเย็นเจอผู้สูญหาย 1 ร่าง ที่ค่อนข้างสมบูรณ์เลย โดยพบที่บริเวณรอยต่อโซนเอและบี ด้านบน
แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลา 17.00 น. (วานนี้) ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16 คน และผู้สูญหายลดลงเหลือ 78 คน
นายกฯ ลงพื้นที่รอบ 4 ติดตามกู้ซาก-ค้นหาผู้สูญหาย
ด้าน นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ไปติดตามดูการค้นหาผู้ประสบภัย และการรื้อถอนซากตึก สตง. โอกาสนี้ ก็ยังพูดคุยกับทีมกู้ภัยจากแคนาดา ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกับสุนัขค้นหา K-9 จำนวน 3 ตัว ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกล่าวขอบคุณที่มาช่วยเหลือไทยด้วย
ทีนี้มาดูเรื่องอื้อฉาว ต่อเนื่องจากคลิปก่อนหน้าที่แชร์สนั่น ผู้รับเหมาช่วง บุกทวงเงินบริษัทคู่กรณี รับงาน มาจากบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 อีกทอดหนึ่ง แต่ได้ค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา
วานนี้ ก็ (6 เม.ย.) รวมตัวกับผู้รับเหมา มาเจรจา เพื่อจี้ ให้บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ จ่ายเงินคงค้างให้ เพราะผู้รับเหมาช่วง ซึ่งรับงานจากบริษัทที่รับงานตรงจาก บริษัทไชน่าฯ ติดค้างเงินสูงหลักหลายล้านบาท จนเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน
อดีตผู้รับเหมาดูแลระบบไฟตึก สตง. ก่อนเกิดเหตุถล่ม ถอนตัวตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะเจอปัญหาจ่ายเงินล่าช้า พูดถึงโครงสร้างสภาพตึก ที่เจ้าตัวบอก โชคดีที่ออกมาก่อน ไม่อยากนึกภาพถ้ายังทำอยู่ตัวเองและลูกน้องกว่า 80 ชีวิตจะเป็นอย่างไร เผยงานนี้เข้าเนื้อ 4 ล้านบาท หวังว่า จะได้เงินที่ค้างไว้
อย่างไรก็ตาม ผลการหารือครั้งนี้ก็ไม่เป็นผล โดยทางบริษัท ไชน่าฯ ก็นัดเจรจากันอีกครั้ง 9 เมษายนนี้ ตัวแทนฝั่งไชน่าฯ ที่มานั่งเจรจา ก็เป็นบุคคลเดียวกับที่หอบเอกสารหนีออกจากตึกก่อนหน้านี้
ส่วน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ก็นัดแถลง 9 เมษายนนี้ด้วย หลังบริษัทถูกตั้งข้อสงสัยปมเหล็กเส้น ผลิตอาจไม่ได้มาตรฐาน ของ สมอ. ด้วย
กทม.เปิดเกณฑ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตึก สตง.ถล่ม
มาที่การเยียวยา ผู้รับผลกระทบจากตึก สตง.ถล่ม ทาง รองผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า ขณะนี้มีผู้ประสบภัยจากเหตุดังกล่าว แจ้งขอความช่วยเหลือผ่านระบบของ กทม.กว่า 40,000 เคส
หลังจากนี้จะแบ่งกลุ่มผู้เสียหาย และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อดำเนินการเยียวยาตามระเบียบฯ ของ กทม.
คร่าว ๆ เงินเยียวยาก็จะมี ค่าเช่าบ้านที่เสียหายจนอาศัยไม่ได้ จะได้รับค่าเช่าไม่เกิน 2 เดือน เดือนละ 3,000 บาท ส่วนค่าบาดเจ็บ จะได้รับเงินปลอบขวัญคนละ 2,300 บาท และเงินทุนประกอบอาชีพ (เครื่องมือประกอบอาชีพที่ได้รับความเสียหาย) ช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ก็จะเตรียมหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อกำหนดค่าเยียวยาใหม่ ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้แจ้งข้อมูล สามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือเยียวยาได้ที่ทุกสำนักงานเขต ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ