อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 3 ตัว ที่ได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้บินกระจายตัวไปยังภาคเหนือของไทย สร้างความหวังให้กับโครงการอนุรักษ์นกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของไทย
วันนี้ (7 เม.ย. 68) ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว หัวหน้าหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตัวแทนกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ ได้ติดตามเส้นทางการบินของ “อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย” ทั้ง 3 ตัว ซึ่งติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมก่อนปล่อย โดยทั้ง 3 ตัวเดินทางเกือบถึงชายแดนของประเทศไทยแล้วโดยแวะพักเป็นระยะ ๆ
โดยการปล่อยอีแร้งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ (4 เม.ย. 68) ทีผ่านมา ที่จุดชมวิวโมโกจูน้อย บริเวณเส้นทางกิโลเมตรที่ 83 ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองลานและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูประชากรนกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ
ข้อมูลล่าสุด เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (6 เม.ย. 68) ทีมนักวิจัยได้ติดตามตำแหน่งของอีแร้งทั้ง 3 ตัวพบว่า
1. "DNP3" บินไปถึง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ใกล้กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
2. "DNP5" หรือที่มีชื่อเรียกว่า "yangae" อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จ.พะเยา
3. "KU1025" หรือ "valentine" บินไปถึงอุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่
สำหรับอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมที่ติดตั้งบนตัวนกช่วยให้นักวิจัยสามารถติดตามเส้นทางการบิน พฤติกรรม และความเป็นอยู่ของนกได้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิจัยและการวางแผนอนุรักษ์ในอนาคต
ทั้งนี้ “อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย” เป็นนกนักล่าขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศด้วยการกินซากสัตว์ ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคและรักษาสมดุลในห่วงโซ่อาหาร การลดลงของประชากรอีแร้งในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม ซึ่งการปล่อยครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และอีแร้งทั้ง 3 ตัวจะสามารถกลับไปยังถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการอนุรักษ์อีแร้งในประเทศไทย เราหวังว่าความพยายามนี้จะช่วยฟื้นฟูประชากรและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องนกนักล่าเหล่านี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง