บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐฯ สามารถคืนชีพ “หมาป่าไดร์วูล์ฟ” ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วกว่าหมื่นปี โดยได้เผยภาพหมาป่าไดร์วูล์ฟ 2 ตัว ท่ามกลางความกังขานักวิชาการบางส่วน
วันนี้ (8 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ (Colossal Biosciences) ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ สามารถฟื้นคืนชีพหมาป่า “ไดร์วูล์ฟ” (Dire Wolf) ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 10,000 ปี ได้จำนวน 3 ตัว ด้วยเทคโนโลยีการดัดแปลงจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมของหมาป่าสีเทาในปัจจุบัน จากการใช้ดีเอ็นเอของฟอสซิลหมาป่าไดร์วูล์ฟ ได้แก่ ฟันหมาป่าไดร์วูล์ฟ อายุ 13,000 ปี และกระดูกหูชั้นใน อายุ 72,000 ปี ที่ขุดพบในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ
โดยเมื่อวานนี้ (7 เม.ย. 68) ทางบริษัทได้เปิดเผยภาพลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ 2 ตัว ที่เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ชื่อว่า "โรมุลุส" (Romulus) และ "เรมุส" (Remus) นอกจากนี้ บริษัทยังอ้างว่ามีลูกสุนัขเพศเมียอีก 1 ตัว ชื่อว่า "คาลีซี" (Khaleesi) ที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2025
อย่างไรก็ตาม นายคอรีย์ แบรดชอว์ (Corey Bradshaw) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาโลก จากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ระบุว่า เขาไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของ "โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์" และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในการฟื้นคืนชีพสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง “หมาป่าไดร์วูล์ฟ” อีกทั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดัดแปลงจีโนมทั้งหมดของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นเวลาหลายพันปี เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การย่อยสลายของดีเอ็นเอ จึงเชื่อว่ามันเป็นหมาป่าสีเทาที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ได้มีโครงการเพื่อดัดแปลงพันธุกรรมเซลล์จากสปีชีส์ที่มีชีวิต เพื่อสร้างสัตว์ที่คล้ายกับแมมมอธ นกโดโด และสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว