ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ, พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา, นายจรัลธาดา กรรณสูต, พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์, พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ, พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2568 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานด้านการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำ ส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
โดย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้น้อมนำพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยต้องฉับไว ทันท่วงที ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ในปี 2568 ได้กำหนดแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในสถานการณ์ภัยแล้งล่วงหน้า 3 ด้าน ได้แก่ ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์ และหน่วยต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง, ระดับพื้นที่ กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม จัดทำแผนเผชิญเหตุในทุกระดับ พร้อมช่วยเหลือประชาชน สร้างการรับรู้ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ และพื้นที่ที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง กำชับให้ดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชน ส่วนกรณีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนด้วยความรวดเร็ว
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2568 มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และกาญจนบุรี ในปี 2568 พบว่า มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าในเดือนเมษายน สถานการณ์ภัยแล้งและอากาศร้อนจะรุนแรงน้อยกว่าในปี 2567
โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และระดมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย และขอรับการสนับสนุนงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ด้านการฟื้นฟูและบูรณะแหล่งน้ำเดิม การกักเก็บน้ำ จัดหาแหล่งน้ำต้นทุน แหล่งน้ำสำรอง ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืช เพิ่มน้ำต้นทุนให้ประปาหมู่บ้าน และการเป่าล้างบ่อบาดาล ในพื้นที่ 23 จังหวัด ทั้งยังได้ดำเนินโครงการ "มหาดไทยเติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง ปี 2568" ในแหล่งน้ำ 18 จังหวัด ประชาชนได้ประโยชน์ 8,700 ครัวเรือน