โฆษกพรรคกล้าธรรม ขอรัฐบาลเลี่ยงเอา 40 ล้านชีวิตเกษตรกรไปแลกกับดีลการค้า ไทย-สหรัฐ เสนอซื้อก๊าซผลิตไฟฟ้า - เครื่องบิน - อาวุธ อเมริกาเพิ่ม แก้ขาดดุล
วันนี้ (10 เม.ย.68) นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ โฆษกพรรคกล้าธรรม กล่าวถึงสถานการณ์การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ถึงสิ่งที่จะกระทบกับสินค้าเกษตร ว่าจะกระทบค่อนข้างเยอะ เพราะไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา หลายรายการมาก ซึ่งที่จะกระทบแน่ๆ ในมุมคนอีสาน คือ ข้าว เพราะเรามีสัดส่วนส่งออกข้าวหอมมะลิ ไปสหรัฐฯ ตลาดสูงถึง 29,000 ล้านบาท ดังนั้นการที่สหรัฐ ขึ้นภาษีกับเรา 36% นั้น และเทียบเรื่องการส่งออกข้าวกับอินเดีย ที่โดนขึ้นภาษี 26% เท่ากับว่า ข้าวของเรานั้น มีแนวโน้ม จะแพงกว่าข้าวอินเดีย ส่งผลให้ผู้บริโภคที่อยู่ในสหรัฐ อาจหันไปบริโภคข้าวจากประเทศอื่น ซึ่งเราอาจจะเสียอันดับในการส่งออก จากเดิมที่เราอยู่ที่ 1 รวมถึงเรื่องยางพารา สัดส่วนที่เราส่งทั้งยางแผ่น ยางก้อนไปสหรัฐ สูงถึง 19,583 ล้านบาท เช่นเดียวกับ แป้งมันสำปะหลัง ที่เราส่งออกไปสหรัฐ 2,700 ล้านบาท ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องไปเปรียบเทียบกับการตอบโต้ทางภาษีกับประเทศอื่น ๆ
เหล่านี้ ถือเป็น 3 สินค้าหลัก ที่อาจจะได้รับผลกระทบ หากไม่เจรจาการค้า ให้ตรงจุด ดังนั้นเราต้องเจรจาให้ถูกจุด แต่หากเราไปเจรจาแล้วนำสินค้าสหรัฐเข้าไทย โดยที่เราไปลดหย่อนภาษีให้เขามากเกินไป เท่ากับว่า จะกระทบ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่เป็นเกษตรกรกว่า 40 ล้านชีวิต เรื่องนี้เอง ที่พรรคกล้าธรรม เรายอมไม่ได้ ที่จะให้ เกษตรกร ได้รับผลกระทบ พวกเราเป็นตัวแทนของพี่น้องกลุ่มนี้ ทนไม่ได้ เลยต้องลุกขึ้นมาเสนอญัตติ ให้รัฐบาลคำนึงถึงเกษตรกรด้วย ไม่ใช่นำชีวิตของเกษตรกรไปแลกกับดีลการค้า
“ตนมีข้อเสนอ เพราะที่จริงแล้วไทย เรามีแต้มต่อ ที่สามารถเจรจาการค้าได้ โดยที่เราไม่ต้องนำชีวิตเกษตรกรไปแลก เช่น เรื่อง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ไทยเรามีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ตามครัวเรือน ซึ่งต้นทุนหลัก คือ ก๊าซเหลว หรือก๊าซ LNG ซึ่งหากเราพิจารณาการซื้อก๊าซ จากสหรัฐ ภายใต้นโยบายของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศว่าจะกลับมาส่งออกก๊าซ อีกรอบ ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะซื้อก๊าซ ของเขาได้เช่นกัน ซึ่งจะสามารถลดการขาดดุลทางการค้า ระหว่างไทย และสหรัฐ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่เขาส่งมาขายให้เรา จะถูกหรือแพง เมื่อเทียบกับการที่เราไปซื้อจากซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว เพราะถ้าหากถูกกว่า เราก็มีเหตุผลในการซื้อรวมถึงการจัดหาเครื่องบิน และอะไหล่เครื่องบิน ซึ่งเราสามารถไปเจรจาให้สหรัฐอเมริกาเพิ่มยอดการขาย ให้เรา เช่นเดียวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นสิ่งที่ไทยเราไม่ได้ผลิตพวกนี้ เราสามารถนำเข้าจากสหรัฐ เพื่อให้เกษตรกรของไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐได้โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ขึ้น”
นายอัครแสนคีรี ยืนยันว่า สิ่งที่ตนพูดนั้น เป็นข้อเสนอให้รัฐบาลกลับไปคิด และทำการบ้าน ไม่ใช่การแข็งกร้าว เราต้องยึดหลักการซื้อขายอย่างเท่าเทียม เกษตรกรไทยเขาไม่ได้ต้องการ F-16 แต่เขาต้องการให้ ข้าว มัน ยาง เหล่านี้ สามารถไปขายในสหรัฐได้ อย่างยุติธรรม เรื่องนี้ต้องฝากให้รัฐบาลช่วยพิจารณา
ส่วนผลกระทบอีกเรื่องที่น่ากังวล คือ เพราะสหรัฐ ขึ้นภาษี ใส่หลายประเทศ จะทำให้ประเทศเหล่านี้ มีบางสินค้า ที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ได้ยากขึ้น เขาอาจจะนำสินค้าเขาไปทุ่มใส่ตลาดอื่น ซึ่งไทยอาจจะโดน เรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าเราจะหามาตรการในการรับมือ สินค้าที่เหลือจากการส่งออกไปสหรัฐ ที่ต่างประเทศเขาจะแห่มาทุ่มในประเทศเรา จะรับมืออย่างไร ให้เกษตรกร และบริษัททั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ของไทย ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นก็จะกระทบกับเงินในกระเป๋าของคนในบ้านเรา จึงเป็นผลกระทบต่าง ๆ ที่ประเทศเราต้องเตรียมการที่จะรับศึกเรื่องนี้ และที่สำคัญเมื่อเราลดการขาดดุลการค้า จากสหรัฐแล้ว ก็เท่ากับเราไปเพิ่มการขาดดุลกับ ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ หรือไม่ เช่น จีน สภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และเราจะไปเจรจากับเขาอย่างไร ที่ทำให้ไทยเราไม่สูญเสียอธิปไตย ไม่โดนจูงจมูก และยังยืนอยู่อย่างมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี ในเวทีโลก ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝากให้รัฐบาลพิจารณา