ห้องข่าวภาคเที่ยง - ผ่านมา 13 วัน ปฎิบัติการค้นหาผู้สูญหาย ใต้ซากอาคาร สตง.ตลอดคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮ ที่เรียกว่าใหญ่สุดในหน้างานรื้อค้นในไทย มาเริ่มขุดซากอาคาร แม้ตลอดทั้งคืนจะพบร่างผู้สูญหายเพิ่มแค่รายเดียว แต่หน้างานเจ้าหน้าที่บอกว่า คืบหน้าไปมากทีเดียว
ทยอยเจอร่างผู้สูญหายใต้ตึก สตง.
ในแต่ละวันมีอุปสรรคไม่ซ้ำกันเลยจริง ๆ กับภารกิจค้นหาผู้สูญหายใต้ซากตึก สตง. อย่างฝนที่ตกลงมานี้ ก็ตกเอาตอน 01.45 น. ทำเอาการค้นหาต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวเลย
ส่วนร่างผู้สูญหาย สรุปแล้วก็สามารถนำออกมาเพิ่มแบบที่นับเป็นศพได้ 1 ร่าง ถูกส่งที่ชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิต ล่าสุดขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 23 ศพ บาดเจ็บ 9 คน สูญหายอีก 71 คน
หลังฝนหยุด เจ้าหน้าที่จึงเริ่มรื้อถอนโครงสร้างอาคารบริเวณโซน A เชื่อมต่อกับโซน C พร้อมกับให้ข้อมูลว่า นอกจากเรื่องฝนแล้ว สาเหตุที่ต้องพักการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เนื่องจากน้ำมันไฮดรอลิคไม่เพียงพอ จึงขอบริจาคน้ำมันไฮดรอลิกสำหรับเครื่องจักรใหญ่ไว้ปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือตรี สกาย เภกะนันท์ ผู้แทนพระองค์ เชิญตะกร้าสิ่งของพระราชทานมอบ เพื่อไปขวัญกำลังใจให้กับญาติผู้สูญหาย, เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน และสุนัข K9 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และตัวแทนเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมารับมอบ
ส่วนเรื่องน้ำมันที่ขาด ที่เราเกริ่นไป ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยืนยันว่า น้ำมันไม่ได้ขาดแคลน แต่ละวันได้เตรียมน้ำมันไว้มากถึง 4,000 ลิตร เพียงแต่ในการปฏิบัติงานจริง จะต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่บ้าง เลยทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่องเท่านั้นเอง
ย้ำ เหล็กสร้างตึก สตง.มีปัญหา
กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งโต๊ะแถลง ปมเหล็กที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่ม
กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เหล็กข้ออ้อยที่ใช้ไม่ผ่านมาตรฐานหลายด้าน โดยเฉพาะองค์ประกอบทางเคมี ค่าโบรอนที่สูงเกินเกณฑ์ ค่าความแข็งและค่าการยืดตัวที่ต่ำผิดปกติ ส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างโดยตรง
การตรวจสอบย้อนกลับ พบว่าเหล็กดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่จังหวัดระยอง ซึ่งแม้บริษัทจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับโครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง แต่กลับไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเส้นทางการจำหน่าย ล็อตการผลิต หรือรายชื่อลูกค้าที่ซื้อเหล็กล็อตเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนด อาจนำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 56 ของกฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ปธ.คตง.ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สรุป "ตึกถล่ม"
จนถึงเวลานี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่ปรากฏในสื่อ หลังตึก สตง.ที่สร้างถล่ม 13 วัน แต่ในระหว่างสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบรอบ 25 ปี พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางร่วมงาน ยืนยัน ยึดผลสรุปข้อเท็จจริง ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายไปแล้วเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ต้องเป็นตัวอย่างทุกหน่วยราชการ และที่ว่าไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ สตง. ไม่เป็นความจริง เพราะทุกหน่วยทำงานเชื่อมโยงกันทั้งหมด มีกรมบัญชีกลางตรวจสอบ สตง. ทุกปี และหากพบความผิด สามารถยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้ และกรณีตึก สตง. ถล่ม ได้ให้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไปสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดรายงานกลับมาอีกครั้ง เรื่องที่เกิดขึ้นอย่ารีบร้อนในการสรุป ต้องรอให้ได้ละเอียดข้อเท็จจริงก่อน