รองผู้ว่าฯ สตง. ชี้แจงปมสร้างตึก สตง. ที่พังถล่ม เผย ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด ลั่น สตง. ยังดีใจว่า ได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศ มารับสร้างโครงการนี้
คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นประธาน ได้เชิญ ผู้ว่าฯ สตง. มาชี้แจง หลังเกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความโปร่งใส จากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม โดย นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. ได้มอบหมายให้นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ และนางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่า ฯ สตง. พร้อมคณะมาชี้แจงแทน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สตง. ยินดีชี้แจง และมั่นใจในการปฎิบัติหน้าที่ แต่ถนนทุกสายวิ่งมาที่ สตง. แม้แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ วันนี้ขอพูดข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษฉะนั้นการก่อสร้างทั้งหมดต้องจ้างออกแบบและจ้างควบคุมงาน ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ ซึ่งเขาก็บอกว่าดำเนินการแล้ว
มีคนตั้งคำถามว่า มีคนแค่ 500 คน ทำไมต้องสร้างตึกใหญ่โต คนที่พูดแสดงว่าไม่มีความรู้จริง ๆ สตง. มีพนักงาน 4,000 คน จึงต้องสร้างตึกสูงแบบนี้ เห็นเมื่อไรก็เสียใจทุกครั้ง
ตนยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย ตั้งแต่จ้างผู้ออกแบบ มีการแต่งตั้งกรรมการจ้างออกแบบ ส่งหนังสือเชิญผู้ให้ 24 ราย แต่มายื่นข้อเสนอ 3 ราย
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตามเกณฑ์คะแนน พบว่า บริษัท บจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และ บจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ได้รับคะแนน 91.12 คะแนน จึงอนุมัติจ้างออกแบบในวงเงิน 73 ล้านบาท
จากนั้นคัดเลือกบริษัทควบคุมงาน คณะกรรมการได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ จำนวน 19 ราย มีมา 5 รายที่ส่งข้อเสนอมา ระหว่างนั้น สตง. ได้ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมด้วย แต่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกตึก สตง. เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมบัญชีกลาง ที่มีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยไม่พบช่องว่ามีการฮั้ว และคำตอบที่ได้รับคือบริษัทดังกล่าวมีทุน และเทคโนโลยีจากจีน โดยบริษัทนี้อ้างว่า ทำงานได้ แม้จะได้งบประมาณตามที่เสนอราคาไว้
ส่วนเรื่องเพื่อความโปร่งใส สตง.ได้ทำ MOU กับ ACT องค์การต่อต้านคอรัปชั่น ประเทศไทย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถขยาย 2 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการปรับรูปแบบ แต่ผ่านมา 4 ปี เพิ่งสร้างได้ 33 % เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติบอกเลิกสัญญาไป เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ได้มาเกิดเหตุอาคารพังถล่มลงมาเสียก่อน
สตง. ยืนยันว่า ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง. ยังดีใจว่า ได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศ มารับสร้างโครงการนี้
หลังจากนั้นประธานในที่ประชุมได้ขอเชิญสื่อมวลชน ออกจากห้องประชุมเนื่องจากต้องซักถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน