ปชช. เชื่อคอร์รัปชันต้นเหตุตึกถล่ม จี้รัฐเอาผิดตัวการใหญ่ ACT เปิดโปงโกงครบสูตร แม้ระเบียบครบถ้วน จับตาหัวคิว เงินภาษี 2 แสนล้านบาท/ปี หายเข้ากระเป๋าบางกลุ่ม
วันนี้ (11 เม.ย.68) ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านระบบ D-vote หัวข้อ “คุณคิดว่าเหตุการณ์อาคาร สตง. (แห่งใหม่) ถล่ม เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่? ” ซึ่งเปิดให้ประชาชนโหวตระหว่างวันที่ 7-10 เม.ย.68 ผลสำรวจเบื้องต้นจากกลุ่มตัวอย่างกระจายทุกช่วงอายุและภูมิภาคจำนวน 182 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 98 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าเหตุการณ์อาคาร สตง.ถล่มเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน
เมื่อถามเจาะลึกถึงสาเหตุตึกถล่ม ประชาชน ชี้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ คอร์รัปชันของผู้เกี่ยวข้อง การใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เช่น เหล็กปลอม และกำหนดแบบก่อสร้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น ต้องการเงินทอน สำหรับการลงโทษผู้กระทำผิด ประชาชนจี้รัฐ “ฟันให้ถึงตัวใหญ่” ไม่ใช่แค่โยนแพะ โดยเสียงส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้แค่หาผู้รับเหมากลับมารับผิด แต่เรียกร้องให้ดำเนินคดี “ผู้มีอำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งเสนอให้แบล็กลิสต์ บริษัทรับเหมาที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ห้ามรับงานรัฐอีกตลอดชีวิต และจำคุกตลอดชีวิตผู้เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันโดยไม่ลดหย่อนโทษ
ส่วนแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยตึกถล่ม เสียงจากประชาชนเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1. ปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวด บังคับให้ทุกโครงการต้องมีกระบวนการตรวจสอบคอร์รัปชัน ทั้ง ตรวจสอบผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ตรวจรับวัสดุ
2. บังคับใช้กฎหมายปราบคอร์รัปชันด้วยบทลงโทษเด็ดขาดรุนแรงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
3. รัฐต้องปรับปรุงระบบข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนตรวจสอบอย่างโปร่งใส
4. ให้ทุกโครงการเมกะโปรเจกต์ (มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) ต้องผ่านข้อตกลงคุณธรรม ให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้น
ดร.มานะ ระบุว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือโครงการร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน เป็นโครงการที่ใช้งบลงทุนสูงเป็นเป้าหมายของคนโกง โดยอาศัยช่องทางตามระเบียบ ดูเผินๆเหมือนถูกต้องตามระเบียบทุกประการ แต่กลับมีช่องพลิกแพลงให้คอร์รัปชันหลากหลายเทคนิค เช่น การล็อคสเปค เพื่อให้เฉพาะบริษัทบางรายเท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัติ การฮั้วประมูล โดยตกลงราคาล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ชนะได้งาน ส่วนผู้แพ้ได้ “ค่าตอบแทน” การแบ่งสัญญา ล่วงหน้าตาม “คิว” ผู้รับเหมาที่ต้องได้รับงาน รวมถึงการหักหัวคิว หรือเงินทอน ร้อยละ 20 - 30 ของมูลค่างาน เพื่อจ่ายให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์ ที่ผ่านมาพบว่า 3 ขั้วอำนาจที่ร่วมมือกันแนบแน่น ทำให้คอร์รัปชันดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุน ข้าราชการที่รู้เห็นแต่เงียบเฉย ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเช่นกัน
“งบประมาณงานก่อสร้างภาครัฐแต่ละปี มีมูลค่ารวมกว่า 780,000 ล้านบาท หากคอร์รัปชันเฉือนหัวคิวไปร้อยละ 30 จะคิดเป็นเงินสูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจเข้าสู่กระเป๋าคนบางกลุ่ม คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และการนิ่งเฉยคือการสมรู้ร่วมคิด”