สงกรานต์วันแรก เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง บาดเจ็บ 210 คน เสียชีวิต 27 คน มุกดาหารแชมป์อุบัติเหตุ-บาดเจ็บสูงสุด
วันนี้ (12 เม.ย. 68) เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2568
ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ประจำวันที่ 11 เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 201 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.76 ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.64 และดื่มแล้วขับ 22.75
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.64 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.26 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 51.66 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 22.75 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.27
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. เวลา 18.01 – 21.00 น. และเวลา 12.01 – 15.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 20.18 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่กรุงเทพมหานคร (5 ราย)
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในวันนี้ พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขอให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด ควบคุมและดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยจะต้องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนดและไม่จำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ โดยมอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ ผ่านระบบ GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วและชั่วโมงการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดบริการประชาชน โดยขอให้พิจารณาเลือกพื้นที่ที่ปลอดภัยในการตั้งจุดบริการประชาชน ไม่ตั้งกีดขวางช่องทางการจราจร มีระยะห่างจากขอบทาง หากพื้นผิวจราจรเปียกน้ำหรือมีน้ำขังให้ติดตั้งเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นจุดบริการประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันอันตรายจากถนนลื่น ไม่ออกไปยืนนอกจุดบริการ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ปฏิบัติงาน