ชาวอำเภอสิเกา จ.ตรัง นับพันคนร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำหอม หนึ่งเดียวในไทย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ โดยมีสามเณรที่บรรพชาภาคฤดูร้อนร่วมพิธี
วันที่ 14 เมษายน 2568 ที่วัดเขาแก้ว ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง พระครูศรีรัตนาภิวุฒิ เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว พร้อมด้วยชาวอำเภอสิเกา จ.ตรังกว่า 1,000 คน ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรน้ำหอม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทย โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 รวมเวลา 20 ปี ซึ่งประเพณีตักบาตรน้ำหอม เป็นการเอาน้ำมาผสมกับน้ำหอม น้ำปรุงและดอกไม้ต่าง ๆ มาใส่บาตรพระสงฆ์สามเณร ซึ่งคนที่ไม่ได้เตรียมน้ำหอมมาจากบ้าน ทางวัดก็มีน้ำหอมใส่ถังเตรียมไว้ให้
ก่อนที่พระครูศรีรัตนาภิวุฒิ จะนำพระสงฆ์สามเณรจำนวน 25 รูป ออกรับบิณฑบาตรน้ำหอมจากชาวบ้านที่มายืนรออยู่รอบพระอุโบสถ สร้างบรรยากาศแห่งความรักความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสามเณรที่บรรพชาภาคฤดูร้อนปีนี้จำนวน 10 รูป ได้มีโอกาสร่วมบิณฑบาตน้ำหอมเป็นปีแรก ทำให้ชาวบ้านเกิดความเอ็นดูเป็นอย่างมาก เนื่องจากบาตรเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะน้ำใกล้เต็มบาตร ชาวบ้านจึงช่วยตักรดน้ำให้สามเณร และให้สามเณรตักรดน้ำให้กับชาวบ้านด้วย เพื่อเป็นการช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้สามารถเดินต่อไปได้จนถึงปลายแถว และบรรเทาความร้อนให้กับสามเณรได้อีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการตักบาตรน้ำหอมมีความหมายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ น้ำ ประกอบด้วย น้ำใจ น้ำคำ (คำพูด) น้ำพักน้ำแรง น้ำเงิน (เงินทอง) และน้ำหอม ส่วนหอม คือกลิ่นที่ทุกคนปรารถนา การตักบาตรน้ำหอมจึงเปรียบเสมือนการมอบสิ่งใดให้กับผู้อื่น ผู้ให้ก็จะได้รับสิ่งนั้นกลับคืน โดยหลังเสร็จพิธีตักบาตรน้ำหอม พระสงฆ์สามเณรจากเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะเข้ารดน้ำขอพรจากเจ้าอาวาสวัดเขาแก้วพร้อมกับชาวบ้าน งานนี้มีสามเณรและชาวบ้านบางคน ถูกเจ้าอาวาสให้พรแบบเต็ม ๆ จนมึนงงกันไปเลยก็มี
ด้านพระครูศรีรัตนาภิวุฒิ เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว อ.สิเกา จ.ตรังกล่าวว่า ประเพณีของที่นี่ที่ตำบลนาเมืองเพชร เรามีกิจกรรมที่เรียกว่า ตักบาตรน้ำหอมจัดทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ตนเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี 2548 จนถึงปีนี้ปี 2568 รวม 20 ปี ชาวบ้านทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมที่นี่ก็ยังมีการตักบาตรน้ำหอม เพื่อเป็นกุศโลบายให้ทุกคนได้รู้ว่า น้ำหอมเป็นน้ำที่มีคุณค่าที่ 1 เกิดมาจากน้ำจิตน้ำใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นของพระคุณเจ้า ของญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา
ในส่วนของน้ำคำก็คือคำพูดที่ทุกคนในชุมชนต้องกลั่นกรองคำพูดด้วยปิยวาจา วาจาที่เป็นบริสุทธิ์เป็นต้น ส่วนที่ 3 คือน้ำพักน้ำแรง คือแรงทุกอย่างทั้งแรงกาย แรงใจที่ชาวบ้านทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันดูแลวัด ก็เลยรวมกันมาเป็นการตักบาตรน้ำหอมในครั้งนี้