สนามข่าว 7 สี - พาคุณผู้ชมไปดูบรรยากาศสงกรานต์วิถีไทย ตามจังหวัดต่าง ๆ เริ่มกันที่จังหวัดหนองคาย คนแห่สรงน้ำ และไหว้ขอพร "หลวงพ่อพระใส" แน่นวัด
สงกรานต์วิถีไทย สรงน้ำขอพร "หลวงพ่อพระใส" จ.หนองคาย
ภาพประชาชนหลั่งไหล รอต่อคิว เข้าสรงน้ำขอพร "หลวงพ่อพระใส" ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวจังหวัดหนองคาย หลังจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน มีพิธีอัญเชิญ "หลวงพ่อพระใส" ลงจากพระอุโบสถ แห่รอบเมือง แล้วนำมาประดิษฐานในศาลาพลับพลาหลวงพ่อพระใส เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำช่วงสงกรานต์
เมื่อวานเป็นวันที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สรงน้ำ "หลวงพ่อพระใส" อย่างใกล้ชิด จนถึงวันที่ 17 เมษายนนี้ ก็จะทำพิธีอัญเชิญขึ้นสู่พระอุโบสถตามเดิมในช่วงเช้าของวันที่18 เมษายน นอกจากสรงน้ำขอพร และไหว้ขอพร "หลวงพ่อพระใส" แล้ว หลายคนยังได้ทำบุญ ถวายสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง และครอบครัว เนื่องในวันปีใหม่ไทยด้วย
สงกรานต์ ทำบุญ-สะเดาะเคราะห์ จ.ขอนแก่น
เช่นเดียวกับที่ วัดไชยศรี อำเภอเมืองขอนแก่น ทางวัดร่วมสืบสานบุญสงกรานต์ ตามวิถีอีสานดั้งเดิม โดยมีพิธีสวดสะเดาะเคราะห์ตามตำราโบราณ รวมทั้งให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญตักบาตรหน้าสิม อิ่มบุญสาวะถีวิถีสุข ฟังเทศน์ ฟังธรรม ก่อเจดีย์ทราย ใครอยากพาลูกหลานเข้าวัด ทำบุญ เสริมสิริมงคล ก็ไปกันได้ที่วัดไชยศรี ซึ่งงานมีถึงวันนี้เป็นวันสุดท้าย (15 เม.ย.)
สงกรานต์ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง "บ้านสะเนพ่อง" จ.กาญจนบุรี
ขยับลงมาที่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง รวมตัวกันจัดงานสงกรานต์ภายในวัดสะเนพ่อง ตำบลไล่โว่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในช่วงเช้า (เมื่อวาน) จูงลูก-หลาน เดินทางมาที่วัดสะเนพ่อง ฟังพระสวด รับศีล ฟังธรรม และร่วมตักบาตรข้าวสุกใต้ต้นโพธิ์
อีกพิธีกรรมสำคัญ ยึดปฏิบัติสืบต่อมารุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้เทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา ที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน รวมทั้งขอขมาสะพานขามลำห้วยโรคี่ ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมาจากไม้ไผ่ ก่อนถึงวันสงกรานต์ โดยนำดอกไม้ เทียน และขมิ้นส้มป่อย มาประพรม ซึ่งชาวบ้านที่นี่เชื่อกันว่าการสร้างสะพาน ก็เหมือนสร้างบุญใหญ่ เสริมชีวิตให้ข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ นั่นเอง
สืบสานการแสดงศิลปะพื้นบ้าน "หมากรุกคน" จ.สมุทรปราการ
ลงมาพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่จังหวัดสมุทรปราการ จัดงานสงกรานต์ภายในวัดราษฎร์บำรุง อยู่ซอยเทศบาลบางปู 115 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ
ที่เด่น ๆ ของงานนี้เน้นโชว์การแสดงศิลปะพื้นบ้าน "หมากรุกคน" เป็น 1 ในกิจกรรมวัฒนธรรมไทยที่หาชมได้ยาก โดยใช้คนจริง ๆ สวมบทบาท เป็นตัวหมากรุก เช่น ตัวเบี้ย ตัวม้า ตัวเรือ
ผู้ดูแลหมากรุกคน เล่าว่า หมากรุกคน สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวด นานกว่า 80 ปี จะจัดวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
ที่เห็นในภาพ นักแสดงล้วนเป็นชาวบ้านจากชุมชนตาเจี่ย บรรจง แต่งเสื้อผ้า หน้าผม ให้เหมือนลักษณะตัวหมากทุกตัวโดยไม่ผิดเพี้ยน สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ และจิตวิญญาณของชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย