สนามข่าว 7 สี - ราชบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาฯ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวกับการถล่มของอาคาร สตง. จากเหตุแผ่นดินไหว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่คลิปวิดีโอใน Youtube ความยาวประมาณ 28 นาที เป็นการสันนิษฐานกรณีอาคาร สตง. พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วรศักดิ์ฯ อธิบายว่า จากแบบแปลนตัวอาคารมีกำแพงรับแรงเฉือน (Shear Core) เป็นปล่องคอนกรีตกระจายในอาคาร เพื่อช่วยรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว แต่จุดที่น่าสนใจ คือ กำแพงรับแรงเฉือนไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางของอาคาร ส่งผลให้เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนแล้วอาคารมีการแกว่งไกว จะทำให้อาคารบิดตัว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วรศักดิ์ฯ ย้ำว่า การออกแบบให้ตำแหน่งปล่องลิฟต์เยื้องศูนย์สามารถทำได้ แต่วิศวกรโครงสร้างก็ต้องออกแบบให้กำแพง และเสารับแรงบิดได้
มีตึกสูงไม่น้อยที่ออกแบบลักษณะคล้าย ๆ กันตามความจำเป็น และความต้องการของสถาปนิก
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วรศักดิ์ฯ ได้นำคลิปการถล่มของอาคาร 3 มุม มาอธิบายว่า เมื่ออาคารบิดตัว ทำให้โครงสร้างบิดตัวตาม และเกิดแรง "เฉือน" ต่อโครงสร้างในตึก ซึ่งปล่องลิฟต์ที่ฐานรากของตึกจะเป็นจุดที่เกิดแรงต้านการบิดตัวมากที่สุด เมื่อรับแรงไม่ไหวจึงแตกร้าวก่อนพังถล่มเป็นจุดแรก
จากนั้นกำแพงกับเสาชั้นล่างก็พังถล่ม เมื่อไม่มีกำแพงกับเสาชั้นล่าง ก็เหมือนอาคารกำลังลอยอยู่กลางอากาศ และถล่มลงมาด้วยน้ำหนักของตัวตึกเองภายใน 8 วินาที
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วรศักดิ์ฯ ยืนยันว่า เป็นการสันนิษฐานกลไกการเกิดวิบัติตามหลักนิติวิศวกรรมที่ปราศจากอคติ โดยอาศัยหลักฐานและข้อมูลตามหลักวิชาการ ส่วนสาเหตุที่องค์อาคารถึงรับมือกับแรงบิดไม่ได้นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่จะต้องหาข้อมูลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 19.45 น. ทีมเจ้าหน้าที่ชุดขุดเจาะยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถช่วยนำร่างผู้สูญหายรายหนึ่งออกมาจากพื้นที่โซน C ได้สำเร็จ ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้ระบุด้วยรหัส "สีดำ"
สำหรับยอดผู้ประสบเหตุจากอาคารถล่มเขตจตุจักร ณ เวลา 19.00 น. มีจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 43 ราย ค้นพบและยืนยันเพิ่มขึ้น 2 ราย จากวานนี้ บาดเจ็บ 9 ราย คงเหลืออยู่ระหว่างติดตามอีก 51 ราย