สนามข่าว 7 สี - ในที่สุด 3 คนไทยที่มีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ เข้าพบ DSI ตามหมายเรียก ก่อนทนายความจะยืนยันทั้ง 3 คน ไม่ใช่นอมินี และไม่ได้หลบหนีตามที่สังคมเข้าใจ
เสียงของทนายความ ยืนยันทั้งนายมานัส, นายประจวบ และนายโสภณ ที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้เป็นนอมินี
ก่อนจะนำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจงกับ พนักงานสอบสวน DSI เพื่อตอบคำถามในหลาย ๆ ประเด็น เช่น องค์ประกอบของธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มาเงินทุน การถือหุ้น หรือ ใครเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการต่าง ๆ
ต่อมาโฆษก DSI สรุปข้อมูลว่า ทั้ง 3 คน ให้การปฏิเสธ ยืนยันไม่ได้ถือหุ้นแทนคนจีน และยอมรับว่า รู้จักกันในกลุ่มกรรมการคนไทยด้วยกัน แต่จะรู้จักกับทางคนจีนหรือไม่ต้องรอสอบสวนปากคำให้แล้วเสร็จก่อน
ส่วนข้อมูลทางการสืบสวน พบ นายโสภณ เคยทำงานที่ ในอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว ก่อนจะลาออกเมื่อ 9 กันยายน 2557 และไม่พบประวัติทำงานที่บริษัทอื่นเพิ่ม
นายประจวบ และนายมานัส มีประวัติเคยทำงานที่แวดวงธุรกิจนำเข้าส่งออก โดย ประจวบ ลาออกเมื่อ 1 กันยายน 2553 ส่วนนายมานัส ลาออกเมื่อ 31 มีนาคม 2558
และข้อมูลสืบสวนยังพบด้วยว่าทั้ง 3 คน เป็นเพียงคนงานยกสินค้าและขับรถ ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทคนจีน
ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ DSI ใช้ประกอบสำนวน ขออนุญาตฝากขัง "นายชวน หลิง จาง" หลังให้การยืนยัน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของจีน ถูกส่งมาลงทุนในไทย ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการถือหุ้นของคนไทย
ต่อมาก็ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา อนุญาตให้วางหลักทรัพย์ 500,000 บาท เพื่อประกันตัวได้ แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และต้องมารายงานตัวตามนัด
ด้าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พูดถึงรายงานจากพนักงานสอบสวนเรื่องการออกแบบปล่องลิฟต์ ปกติฝั่งประเทศจีน จะออกแบบให้มีความหนา 60 เซนติเมตร แต่ตึก สตง.กลับถูกออกแบบให้มีความหนาเพียง 30 เซนติเมตร ก่อนถูกปรับแก้แบบลดเหลือเพียง 25 เซนติเมตร โดยพยานหลักฐานจากฝั่งจีน อ้างว่า ผู้ออกแบบเป็นคนไทย ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องสืบสวนต่อว่า บุคคลที่ว่านั้นคือใคร