ช้างป่าอายุมากติดหล่มในแอ่งน้ำในอุทยานแห่งชาติกุย เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือไม่ทันล้มไปเสียก่อน จากการตรวจสอบพบกระสุนฝังในตัวหว่า 1 ปี คาดล้มเนื่องจากอายุมากและแผลติดเชื้อ
วันนี้ (22 เม.ย. 68) นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เผยว่า เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 19 เมษายน 2568 ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ระหว่างที่เข้าไปหาอึ่งเดินมาตามลำห้วยได้พบ “ช้างป่า” ตกหล่มอยู่ในแอ่งน้ำ ไม่สามารถขึ้นมาได้ บริเวณไทรเอน ท้องที่หมู่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งช้างป่ายังมีชีวิตอยู่พยายามตะเกียกตะกายชูงวง แต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ดำเนินการสำรวจค้นหาด้วยโดรน แต่ไม่พบเนื่องจากฝนตก จึงได้ยกเลิกภารกิจ
ต่อมาเวลา 08.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2568 คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ใช้โดรนบินสำรวจพบก็ “ช้างป่า” นอนตะแคงในแอ่งน้ำ หู ขา และงวง ยังมีการขยับ จึงได้ประสานสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ประเมินอาการ ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้นำตัวช้างป่าขึ้นมาจากแอ่งน้ำ เพื่อให้สัตวแพทย์ประเมินอาการและทำการรักษา แต่ในเวลา 16.30 น. ช้างป่าตัวดังกล่าวได้ล้มลง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ประสานพนักงานสอบสวน สภ.ยางชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันนี้ (21 เม.ย. 68) เนื่องจากเวลาใกล้ค่ำ และเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากสัตว์ป่า
วันนี้ (21 เม.ย. 68) เจ้าหน้าที่อุทยานฯ, นายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมทีมสัตวแพทย์, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยางชุม, เจ้าหน้าที่อำเภอกุยบุรี, เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มณฑลทหารบกที่ 15 และเจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เข้าร่วมตรวจสอบจุดที่ช้างป่าเสียชีวิต
จากการตรวจสอบพบว่า ช้างป่าตัวดังกล่าว เป็นเพศเมีย อายุประมาณ 50-60 ปี ค่อนข้างผอม น้ำหนักประมาณ 3,000-3,500 กิโลกรัม พบร่องรอยบาดแผล เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม. บริเวณขาหลังด้านขวา ดวงตาข้างขวาขาวขุ่น อวัยวะทุกส่วนครบถ้วนสมบูรณ์ และสแกนพบโลหะในซากช้างป่า จึงผ่าเปิดแผลลึกลงไปในชั้นกล้ามเนื้อลึกประมาณ 10 ซม. จึงพบหัวกระสุนลักษณะเกลียวยาว 1 ชั้น คาดว่าอยู่ภายในตัวกว่า 1 ปี และเม็ดโลหะทรงกลม 1 ชั้น และพบก้อนหนองขนาดใหญ่ใกล้กระดูกข้อต่อหัวเข่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 ซม. ภายในเต็มไปด้วยหนองเหลว ลักษณะเนื้อเยื้อ และผิวหนัง มีสีซีดเหลือง ปลายงวงซีดเหลือง ลิ้นและเนื้อเยื่อภายในช่องปากซีดเหลือง จึงเชื่อว่าช้างป่าตัวนี้ติดเชื้อรุนแรงจากบาดแผลและก้อนหนองภายในกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีอายุค่อนข้างมาก ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง จึงทำให้เกิดภาวะติดเชื้อและล้มลง
ทั้งนี้ หลังผ่าพิสูจน์ซากช้างป่าแล้ว คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันฝังกลบซากช้างป่า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ลงบันทึกประจำวันและหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการคดีต่อไป