เนื่องจากวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระวังยุงก้นปล่อง ในช่วงที่สภาพอากาศฝนตก ชื้น มีน้ำขัง เพราะเป็นยุงที่เป็น “พาหะนำโรคไข้มาลาเรีย” ซึ่งเป็นโรคที่อันตราย
ถิ่นอาศัยของ “ยุงก้นปล่อง” มักพบในพื้นที่ป่าเขา พื้นที่การเกษตร สวนที่ติดกับชายป่า สวนยางพารา และอุทยานทางธรรมชาติ แหล่งน้ำใสไหลเอื่อยๆ เช่น ลำธาร แอ่งน้ำซึบ น้ำซับ มักออกหากิน หัวค่ำจนถึงเช้าตรู่

ไข้มาลาเรีย โรคติดต่อจากยุงก้นปล่อง ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้
การติดต่อของโรคไข้มาลาเรีย ติดต่อโดยยุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากผู้ป่วยไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยเริ่มจากยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย แล้วดูดเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียเข้าไป หลังจากนั้นเชื้อมาลาเรียจะใช้เวลาเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 - 12 วัน จนอยู่ในระยะที่ทำให้เกิดโรคได้ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคน ก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10 - 14 วัน

อาการของโรคไข้มาลาเรีย โดยทั่วไปมีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ แต่ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการซีด ตาเหลืองตัวเหลือง จุดเลือดออกหรือเลือดออกผิดปกติ สับสน ซึมและช็อคได้

การรักษา เชื้อมาลาเรียเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องอาศัยการตรวจหาเชื้อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียสำเร็จรูป และเนื่องจากเชื้อมาลาเรียบางชนิด เมื่อป่วยแล้วไม่ไปรับการรักษาทันทีรักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำาให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยมาลาเรียทุกราย จะต้องได้รับการตรวจรักษาตามชนิดของเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด
การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
-กางมุงนอน พร้อมปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด
-ทายากันยุงบริเวณผิวหนังภายนอก หรือจุดยากันยุง
-สวมใส่เสื้อผ้าให้ปกคลุมมิดชิด
-หากต้องค้างคืนในไร่นาหรือป่าเขา ให้ใช้มุงชุบน้ำยา
-กำจัดแหล่งลูกน้ำ เช่น บริเวณน้ำกักขัง เป็นต้น
