แผ่นดินไหวขนาด 3.0 แตกตื่นทั้งเมือง จ.นครศรีธรรมราช

View icon 391
วันที่ 7 พ.ค. 2568 | 16.05 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - วันนี้ชาวบ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างอยู่ในความหวาดผวา หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 ที่อำเภอฉวาง และรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้หลายพื้นที่ แต่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดจากรอยเลื่อนเขาหลวง

แผ่นดินไหวขนาด 3.0 แตกตื่นทั้งเมือง จ.นครศรีธรรมราช
แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเวลาประมาณเวลา 05.31 น. จุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพื้นทื่สวนใหญ่เป็นสวนยางพารา ซึ่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่ามีขนาด 3.0 ความลึก 1 กิโลเมตร

ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ทั้งในตำบลไสหร้า รวมทั้งพื้นที่ข้างเคียงอย่างเช่น ตำบลกะเปียด ตำบลไม้เรียง และตำบลห้วยปลิก ต่างรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และพากันตกใจกลัว

เพราะข้าวของที่วางอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน รวมทั้งหลังคาบ้าน ก็สั่นไหว ทำให้บางคนต้องหนีออกมาอยู่นอกบ้าน เพื่อความปลอดภัย แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นของชาวบ้าน พบว่าไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด

ขณะที่ เจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองนครศรีธรรมราช เข้าตรวจสอบอาคารโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง พบร่องรอยการร้าวของอาคารบางส่วน ซึ่งพบว่าเป็นการร้าวในลักษณะพาดเฉียงจากแรงเฉือนของการสั่นสะเทือน แต่ยังอยู่ในระดับปลอดภัย แต่ได้กำชับให้มีการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด

เหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอฉวาง คาดว่าน่าจะเกิดจากรอยเลื่อนเขาหลวง ซึ่งพาดผ่านอำเภอฉวาง และอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังพบว่ามีรอยเลื่อนอีกจุด คือ รอยเลื่อนขนอม ซึ่งพาดผ่านอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี, อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และเลยเข้าไปในอ่าวไทย ซึ่งทาง ปภ.นครศรีธรรมาช ขอให้ชาวบ้านในพื้นที่ เฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกที่อาจจะเกิดตามมา พร้อมทั้งเร่งทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก

ทดสอบแจ้งเตือนภัย ครั้งที่ 2
ผ่านไปแล้วอีก 1 รอบ กับการแจ้งเตือนผ่าน ระบบ Cell Broadcast ที่ ปภ. ย้ำว่าพอใจกับการทดสอบ แต่คนในพื้นที่มองว่า นอกจากเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ น่าจะเตือนภัยอื่น ๆ พ่วงมาด้วยกันเลย ที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อชีวิต

วันนี้เป็นรอบที่ 2 ของ ปภ. กับทดสอบการแจ้งเตือน โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัยใน 5 พื้นที่ ส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบ แม้จะตั้งค่าปิดเสียงก็ดัง ไม่เกิน 30 วินาที คนในห้องที่ทำการทดสอบ ก็ได้รับการเตือนเช่นกัน ซึ่ง ปภ.แสดงความพอใจกับการทดสอบ

ซึ่งแนวทางการแจ้งเตือน ปภ.ยังมองไปถึงภัยอื่น ๆ ที่ไม่เฉพาะแค่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยจากาการกระทำของบุคคลในพื้นที่กระทบต่อชีวิต และวันที่่ 13 พฤษภาคม จะมีการทดสอบในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้งก่อนจะทดสอบทั่วประเทศ

ชาวบ้านได้รับการแจ้งเตือนภัย ผ่านโทรศัพท์มือถือ จ.สุราษฎร์ธานี
ชาวบ้านในส่วนภูมิภาค 5 อำเภอ ได้รับการแจ้งเตือนภัย อย่างเช่นในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในเวลา 13.00 น. ชาวบ้านบอกเวลาสถานการณ์เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วมน้ำป่า ดินถล่ม หรือมีเหตุคลุ้มคลั่ง ภัยอันตราย ก็ขอให้แจ้งเพื่อหนีได้ทัน

เช่นเดียวกับ อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอเมืองนครสวรรค์ ที่ประชาชนไม่ได้ตื่นตระหนก เมื่อมีการบอกไว้ให้เข้าใจเช่นกัน

ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่สำรวจย่านแฟลตดินแดง และโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี พบประชาชน พ่อค้า แม่ค้า และคุณครู ได้รับข้อความแจ้งเตือนเข้ามือถือทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ แม้บางคนใส่นาฬิกาแบบ Smart Watch ก็แจ้งเตือนไปพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นสิ่งที่ดีจะได้เตรียมตัว