ข่าวเย็นประเด็นร้อน - สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ กับภารกิจกู้ภัย ตึก สตง. ถล่ม ที่วันนี้ทีมกู้ภัยจะปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย ทุกคนพร้อมใจยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ก่อนส่งคืนพื้นที่
ปิดฉาก 48 วันภารกิจกู้ภัยตึก สตง.ถล่ม
วันนี้ ภารกิจสุดท้าย ที่ทีมกู้ภัยจากหลายหน่วยงาน และญาติ ๆ ของผู้ประสบภัยตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ถล่มลงมา พร้อมใจกันทำ คือ จัดพิธีทำบุญครั้งใหญ่ ตักบาตรพระสงฆ์ 109 รูป อุทิศบุญกุศลให้กับผู้เสียชีวิต หลังจากทีมกู้ภัยทำงานค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัยใต้ซากตึกถล่มมาอย่างต่อเนื่อง รวม 48 วัน ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม
หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ทีมกู้ภัยยังร่วมกันยืนสงบนิ่ง ล้อมรอบพื้นที่ตึกถล่ม พร้อมนำดอกกล้วยไม้สีขาววางเรียงรายไว้รอบซากตึก เพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต คือ ภาพสุดท้ายก่อนที่สถานที่แห่งนี้ จะถูกส่งต่อให้กระบวนการยุติธรรมได้เดินหน้าต่อไป
ด้าน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เดินทางมาร่วมทำบุญในวันนี้ด้วย ยืนยัน สตง. พร้อมให้ความร่วมมือและยอมรับผลการตรวจสอบ
โดยกรุงเทพมหานคร แถลงปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์หน้าไซต์งาน และจะเริ่มขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ และเครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นวันนี้เป็นต้นไป
ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลผู้เสียชีวิต ขณะนี้พบร่างและชิ้นส่วนมนุษย์ตรวจสอบ 89 คน แบ่งเป็นร่างสมบูรณ์ 80 คน ส่วนอีก 9 คนพบเป็นชิ้นส่วน สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้แล้ว 72 คน ซึ่งสถาบันนิติเวช จะเปิดศูนย์พิสูจน์ฯ ไปจนกว่าจะส่งร่างผู้เสียชีวิตคืนสู่ญาติจนครบ
ขอศาลฯ ออกหมายจับคดีตึก สตง.ถล่ม
ด้านความคืบหน้าทางคดี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ บอกว่า ตำรวจนครบาลกำลังไปขอศาลฯ ออกหมายจับผู้ต้องหา 17 รายทั้งบุคคล และนิติบุคคล ได้แก่ กลุ่มบริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิกผู้ออกแบบ วิศวกรโครงสร้าง และวิศวกรที่ปรึกษา รวมถึงนายปฏิวัติ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามกิจการร่วมค้า PKW ด้วย
โดยมีข้อหาปลอม และใช้เอกสารราชการปลอม ตามที่มีวิศวกร 28 คน จาก 51 คน แจ้งความไว้ ข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นผู้มีวิชาชีพฯ แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
ประชาชนตื่นตระหนก ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย
ขณะที่ ช่วงบ่ายที่ผ่านมา หลายคนมีสะดุ้ง หลังโทรศัพท์มือถือร้องเตือนภัยทั่วเมือง หลายคนตกใจ ทีมข่าวช่อง 7HD เราเอง ก็ตกใจ ก็ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ. และ สำนักงาน กสทช. ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยครั้งใหญ่ ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ ทำให้ได้รับข้อความเด้งมาที่หน้าจอมือถือกัน
ทีมข่าวไปสอบถามประชาชน หลายคนยอมรับ ตกใจ เพราะไม่รู้ข่าวสารล่วงหน้า แต่มอง เป็นสิ่งที่ดี หากเกิดภัยพิบัติในอนาคต ประชาชนได้รู้รับมือได้เร็ว