สายพันธุ์ XEC ระบาด ติดเชื้อโควิดทะลุ 7 หมื่นราย เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยยังสูงขึ้น

สายพันธุ์ XEC ระบาด ติดเชื้อโควิดทะลุ 7 หมื่นราย เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยยังสูงขึ้น

View icon 3.8K
วันที่ 14 พ.ค. 2568 | 18.46 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมควบคุมโรค เผย หลังสงกรานต์ ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทะลุ 7 หมื่นราย เสียชีวิต 19 ราย สายพันธุ์ XEC ระบาด แนวโน้มผู้ป่วยยังสูงขึ้น ส่วนไข้หวัดใหญ่ ป่วยสะสม 328,103 ราย เสียชีวิต 33 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันนี้ (14 พ.ค.68) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย แพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ แถลงข่าวสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์, โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า ในปีนี้พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ยืนยันแล้ว 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยยืนยันทั้ง 4 ราย เป็นผู้ป่วยจากเหตุการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนในอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อ Bacillus anthracis ในผู้ป่วยสงสัย 16 ราย และอยู่ระหว่างการรอผลทางห้องปฏิบัติการ 1 ราย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยอีก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ส่วนอาการของผู้ที่ติดเชื้อ คือ 95 - 99% ของผู้ป่วยมักเป็นที่มือ แขน คอ หรือขา เริ่มจากเป็นตุ่มแข็ง เปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส และแตกเป็นแผลหลุมดำคล้ายบุหรี่จี้ อัตราป่วยตาย 5 - 20% หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบทางเดินอาหาร กรณีรุนแรงสุด แต่พบไม่บ่อย อาการในช่วงแรกจะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลวได้ อัตราป่วยตาย 80 - 90%

อาการของสัตว์ที่ติดเชื้อ คือ มีไข้สูง ไม่กินหญ้า น้ำลายปนเลือด หายใจลำบาก ยืนโซเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก เสียชีวิตกะทันหัน มีเลือดไหลออกจากปาก จมูก และรูทวาร อวัยวะเพศ เลือดมีลักษณะเป็นสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นเหม็นคาวจัด ซากสัตว์จะนิ่ม และเน่าอืดเร็ว แนะประชาชนห้ามนำสัตว์ป่วยตายหรือสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา มาชำแหละ ขาย หรือรับประทาน, สวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนสัมผัสสัตว์ และชำระล้างร่างกายทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์, รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ, เฝ้าระวังสัตว์ป่วยตายในพื้นที่ เมื่อพบสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคให้แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง เมื่อพบสัตว์ป่วยตายให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ เพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุ และดำเนินการควบคุมโรค และ ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ค. 68 พบผู้ป่วย 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือน ม.ค.- ก.พ. ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น

ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ค.68 พบผู้ป่วยสะสม 328,103 ราย (อัตราป่วย 500.40 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 33 ราย แนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มเด็กเล็ก 0 - 4 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำเพิ่มขึ้น สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็น A/H1N1 (pmd09) 42.02% รองลงมาคือ B (Victoria) (32.67%) และ A/H3N2 (25.21%) ตามลำดับ

คำแนะนำสำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจ 1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก 2. ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพลานในช่วงที่มีการระบาด หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย 4. เมื่อมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยูใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และไปรับการรักษาจากแพทย์ 5. หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ

นอกจากนี้ แนะนำ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี) 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือ ดัชนีมวลกาย (BMI > 35) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยในช่วงเดือนพ.ค. – ส.ค. มีบริการฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช. หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422