โยธาฯ ยืนยัน 90 วัน รู้ผลตึก สตง.ถล่ม จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง

โยธาฯ ยืนยัน 90 วัน รู้ผลตึก สตง.ถล่ม จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง

View icon 206
วันที่ 15 พ.ค. 2568 | 17.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โยธาฯ ชี้แจง กมธ.ติดตามงบฯ ยืนยัน 90 วัน รู้ผลตึก สตง.ถล่ม พบเอกสารการคำนวณไม่สอดคล้องกฎหมาย แนะแก้กฎ ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรต้องมีวันหมดอายุ พิสูจน์ตัวตนวิศวกร

วันนี้ (15 พ.ค.68) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายในกาาตรวจสอบสาเหตุตึก สตง.ถล่ม ว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม างแนวทางการสืบสวนไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องของการออกแบบ ทางคณะกรรมการ สามารถตรวจสอบได้เลยเนื่องจากตรวจสอบจากเอกสารรายการคำนวณพร้อมกับแบบแปลนที่ได้รับจาก สตง.เนื่องจากเป็นการจ้างบริษัทออกแบบ ในการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เอกสารแรงการคำนวณมีบางส่วนไม่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสาเหตุของตึกถล่มหรือไม่ จึงต้องสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง ซึ่งมี 6 สถาบันการศึกษาเข้าร่วม กับกรมโยธาธิการ รวมเป็น 7 หน่วยงาน โดยเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อเป็นการลด human error โดยนำแบบที่อยู่ในคู่สัญญาใส่ลงไปในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

หลังจากนั้นจะรันระบบเสมือนว่าเกิดแผ่นดินไหว เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสียหายตรงไหนอย่างไร และวิเคราะห์โดยใช้แรงแผ่นดินไหว คาดว่าจะเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน ที่กำหนด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด รวมไปถึงต้องมีการ จำลองแผ่นดินไหว ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้แบบของตึกที่มีการแก้ไขลงไปด้วย เพราะมีการแก้ไขแบบผนังลิฟต์ จาก 30 เซนติเมตรเป็น 25 เซนติเมตร ดังนั้นจำเป็นต้องรันโปรแกรมในหลายรูปแบบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าพังเพราะสาเหตุใด

นายพงษ์นรา ยืนยันว่า ภารกิจของกรมโยธาธิการที่จะสามารถตอบได้ภายใน 90 วัน น่าจะเป็นการตรวจสอบการออกแบบของตึก สตง. เพราะมีการตรวจสอบเอกสารรายงานการคำนวณที่เป็นข้อสงสัยต่าง ๆ เพราะการออกแบบมี Safty Factor อยู่ การที่ออกแบบแล้วไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเป็นสาเหตุหลักของการพังถล่ม บางอย่างทำผิดกฎหมายแต่ไม่ถล่มก็เป็นไปได้ ต้องพิสูจน์ด้วยการรันโปรแกรม จึงขอให้แยกแยะประเด็นกัน ซึ่งหากพบสาเหตุของตึกถล่มก็จะมีมาตรการออกมาเพื่อดำเนินการป้องกันได้ในอนาคต

กรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอให้แก้ไขกฎหมายป้องการเกิดเหตุซ้ำ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในการสร้างตึกอาคารราชการ ต้องส่งเอกสารรายการคำนวณให้กับกรมโยธาธิการตรวจสอบด้วย หรือจ้างบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบรายการคำนวณด้วย ทางกรมอยู่ระหว่างการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ แนะให้แก้ไขอายุผู้ประกอบอาชีพวิศวกร ปัจจุบันไม่มีวันหมดอายุ เนื่องจากผู้ที่เซ็นแบบตึก สตง.อายุ 85 ปี อาจต้องมีการต่อใบประกอบวิชาชีพ โดยใช้การพิสูจน์หลักวิชาการวิศวกรรมศาสตร์ต่าง ๆ และการป้องกันการปลอมแปลงใบประกอบวิชาชีพ หากมีใบรับรองแล้ว อาจต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นรีเช็กอีกครั้ง เพราะปัจจุบันมีระบบที่ใช้ในการพิสูจน์ตัวตนวิศวกรแล้ว แต่ก็ยังมีกาาปลอมแปลงอยู่