องคมนตรี ประชุมสรุปผลการดำเนินงานสถานีวิจัยการเกษตรและพัฒนาโครงการหลวง โนนดินแดง และติดตามความก้าวหน้าพืชพระราชทาน ที่จังหวัดเชียงใหม่

View icon 115
วันที่ 15 พ.ค. 2568 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของสถานีวิจัยการเกษตรและพัฒนาโครงการหลวง โนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นำผลสำเร็จการดำเนินงานตามแนวพระราชทานการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแบบมูลนิธิโครงการหลวง มาปรับใช้ในพื้นที่ราบสูงเป็นครั้งแรกในรัชสมัย โดยมีการวิเคราะห์ศักยภาพ จุดแข็ง และโอกาสของพื้นที่ตามแผนเร่งด่วนระยะแรก 1 ปี มุ่งพัฒนาให้เป็นต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชน มีเป้าหมายส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการอย่างบูรณาการ จัดทำแปลงตัวอย่างการวิจัยและนวัตกรรม โดยสร้างโรงเรือนปลูกพืชเพื่อทดสอบสาธิต อาทิ แตงกวาญี่ปุ่น มะเดื่อฝรั่ง ที่นำไปต่อยอดได้ในอนาคต รวมถึงวางแผนด้านแหล่งน้ำและการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน บูรณาการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างบุกรุก ตลอดจน ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

พร้อมกับติดตามความก้าวหน้าพืชพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 18 ชนิด 44 พันธุ์ นำมาปลูกทดสอบและขยายพันธุ์ที่โรงเรือน "สิริวัณณวรี Botanical Garden" สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปัจจุบัน ได้ทดสอบ วิจัย และพัฒนาพืชหลายชนิด โดยประเมินศักยภาพของพืชแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ พืชทางเลือกใหม่, พืชที่มีศักยภาพ และพัฒนาต่อยอดสู่งานส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง และพืชที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มช่องทางตลาด ซึ่งจัดทำกรอบการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชเพื่อดำเนินการวิจัยและทดสอบ พัฒนาเทคโนโลยีและวิธีการในการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ 7 ชนิด อาทิ ชาเขียวมัทฉะ วาซาบิ, กลุ่มพืชเพื่อพัฒนาต่อยอด 7 ชนิด อาทิ กาแฟ ชาดอกกุหลาบ บัตเตอร์นัท ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต โดยองคมนตรี เน้นย้ำการส่งเสริมและพัฒนาสายพันธุ์กุหลาบ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ พัฒนาต่อยอดสู่การส่งเสริมอาชีพต่อไป

ข่าวอื่นในหมวด