เผยผลชันสูตรซากช้างป่า เพศผู้ ล้มที่ชายป่ากุยบุรี ไม่พบบาดแผลจากอาวุธ แต่บาดแผลการถูกถูกช้างป่าตัวอื่นทำร้ายใช้งานแทงเป็นแผลลึก กระดูกสะโพกทะลุและแตก
จากกรณีที่พบช้างป่าเพศผู้ มีงา ล้มอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ท้องที่หมู่ที่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันเสาร์ (17 พ.ค. 68) ที่ผ่านมา
วันนี้ (19 พ.ค. 68) ทาง นายนพพร ประทุมเหง่า ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เผยว่า คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำโดย นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้า อช.กุยบุรี พร้อมด้วยนายอนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี, พนักงานสอบสวน สภ.บ้านยางชุม, เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 1452 (บ้านย่านซื่อ), ทหารชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มณฑลทหารบกที่ 15, เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF ประเทศไทย และชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้าตรวจสอบซากช้างป่าและทำการผ่าชันสูตร
ทางทีมสัตวแพทย์ฯ ได้ทำการผ่าชันสูตรซากช้างป่า พบว่า เป็นช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี น้ำหนักประมาณ 1.5 ตัน มีงาทั้ง 2 ข้าง สภาพซากเน่าสลาย ไม่พบบาดแผลใด ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก คาดว่าตายมาแล้ว 5-7 วัน และได้ใช้เครื่องสแกนโลหะตรวจสอบ แต่ไม่พบว่ามีโลหะในร่างกาย จากนั้นได้ทำการผ่าซากพบว่าอวัยวะภายในเน่าสลายจนไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้ หลังจากนั้นได้ทำการพลิกซากช้างเอาด้านขวาขึ้น และพบรอยบาดแผลบริเวณสะโพกขวา ขนาด 10x10 ซม. จึงได้ทำการล้วงตามบาดแผลไปลึกถึงกระดูกสะโพกพบว่า กระดูกสะโพกทะลุและแตกเป็น 2 ส่วน มีเศษอาหารทะลักออกมาในรู. ผิวหนังขอบแผลมีลักษณะไม่เรียบคล้ายรอยฉีก ทีมสัตวแพทย์จึงคาดว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากพฤติกรรมช้างป่ามีงาขนาดใหญ่ทำร้าย เนื่องจากขนาดบาดแผลใกล้เคียงกับขนาดของงาช้างเต็มวัย ทำให้ช้างตัวนี้ได้รับบาดเจ็บและตายในที่สุด
หลังการชันสูตร เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ทำการถอดงาทั้ง 2 ข้าง เก็บรักษาไว้ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หลังจากนั้นได้ฝังกลบซากในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อสู่สัตว์ป่าอื่น ๆ พร้อมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.บ้านยางชุม