นายกฯ อิ๊งค์ รับชะลอเงินหมื่นเฟส 3 เพราะกำแพงภาษีสหรัฐฯ

นายกฯ อิ๊งค์ รับชะลอเงินหมื่นเฟส 3 เพราะกำแพงภาษีสหรัฐฯ

View icon 98
วันที่ 20 พ.ค. 2568 | 13.58 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
นายกฯ อิ๊งค์ รับชะลอเงินหมื่นเฟส 3 เพราะกำแพงภาษีสหรัฐฯ ยัน นำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น มองภาพใหญ่ของประเทศ เสียดาย  ทักษิณไม่ได้พบทรัมป์

วันนี้ (20 พ.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในเฟส 1 และ 2 กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และการเลื่อนเฟส 3 ออกไปเพราะไม่มีเงินหรือไม่ ว่า เป้าหมายของการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแปลว่ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด

ซึ่งในรอบแรก และรอบสอง ได้กระตุ้นไปแล้วในกลุ่มบอบบาง และผู้สูงอายุ แต่เมื่อมีเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ เข้ามา เราต้องพิจารณาทบทวน และได้ข้อเสนอจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ ว่าเงินก้อนนี้ จะสามารถใช้อะไรที่มันจำเป็น และเร่งด่วนกว่าในเรื่องการแจกเงินดิจิทัลเปลี่ยนรูปแบบการกระตุ้นว่าสามารถนำก้อนนี้ไปเรียงลำดับความสำคัญ ว่าทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด เราจึงต้องมีการทบทวนใหม่

การชะลอไปก่อนแปลว่ายังมีโอกาสได้อยู่ หรือเพราะไม่กล้าพูดว่ายกเลิก เนื่องจากกลัวกระทบฐานเสียง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องพูดกันให้เข้าใจก่อนว่าตอนนี้ปัญหาที่เข้ามาแทรก คิดว่าประเทศไหนก็คงอยากได้ปัญหานี้ เงินก้อนนี้ทั้งก้อนแปลว่าถ้าเกิดประโยชน์ตรงไหนสูงสุด เราเน้นที่ตรงนั้นมากกว่า เราไม่บอกว่ายกเลิก

เพราะสมมุติว่าหากกลับมาทำอีก ในสถานการณ์ที่มันดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ได้ผลมากที่สุด เราก็มีความหวังว่าเราอยากให้อะไรที่มีประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มันก็ต้องได้ทำ เพราะฉะนั้น ที่คณะกรรมการทบทวนกันมา การแจกเงิน 10,000 บาท หรือใช้ดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่ดีที่สุด

เราจึงต้องรับฟัง และถามว่าตัวกระตุ้นไหนดีที่สุดสำหรับประเทศ นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเรื่องของกำแพงภาษีเข้ามา ซึ่งตอนนี้ก็คงต้องเป็นแบบนี้

ส่วนจะกระทบต่อการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเวลาหาเสียงเราประเมินสถานการณ์ว่าเราทำได้จริง แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่จะขึ้นมา ถามจริง ๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศไหนคาดคิด ไม่ใช่แค่ประเทศไทยและสิ่งที่เป็นสถาการณ์พิเศษอย่างกำแพงภาษี เราก็ตกใจกันหมด ไม่ว่าจะขึ้นมาตอนแรก 30-40% เป็นสิ่งที่ไม่ได้สามารถคาดการณ์ได้ ทุกอันที่ถามว่าทำไม่ได้จริงไหม ไม่จริง เราทำไปแล้ว ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย แต่สถานการณ์นี้สุดวิสัย ทุกครั้งที่ทำผ่านความคิดเห็นได้ แต่ครั้งนี้มีเหตุการณ์ใหม่ คือเรื่องภาษีเข้ามา มันผ่านไม่ได้ ความจริงก็แค่นั้นเอง

สำหรับประชาชนที่ผิดหวัง จะต้องให้ สส. เพื่อไทยไปทำความเข้าใจประชาชนอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า แน่นอนว่าต้องทำความเข้าใจ แต่เงินตรงนี้นำไปทำตรงไหน เราทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ ทั้งเรื่องโครงการที่เสนอไปแล้ว อย่างน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ของประเทศ ทุกคนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ จะมีการทำเรื่องน้ำสะอาดให้ได้ใช้ทุกพื้นที่ จึงเป็นความจำเป็นที่ จะโยกย้ายหมุนเงินก้อนนี้ไปทำในสิ่งที่ลงความเห็นมาแล้วว่าต้องทำก่อนเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาท หรือดิจิทัล วอลเล็ต

กรณีที่คนมองไม่ออกว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปต่อกรกับกำแพงภาษียังไง จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก้อนนี้ 157,000 ล้านบาท เป็นก้อนที่มาจากงบกลางซึ่งจะต้องใช้ให้หมดภายใน 30 กันยายนนี้ ไม่ได้ถูกจัดกลุ่มอยู่ในเรื่องกำแพงภาษีเพราะเรื่องกำแพงภาษีอยู่ในนโยบายว่าต้องทำอย่างไรบ้างหรือเปลี่ยนอะไรบ้างกับทางสหรัฐฯ และจะต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนระยะสั้น ที่จะใช้เงินก้อนนี้ได้เลยจะสร้างประโยชน์อะไรกับประชาชนได้บ้าง และหลังจาก 30 กันยายนนี้ มีนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการรองรับเงินก้อนนี้ ไม่ใช่ใช้แล้วหายไปใช้เพื่อลงทุนในก้อนแรก เพื่อจะต่อนโยบายในระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จำเป็นจะต้องมีโครงการอื่นมาเยียวยาประชาชน เงินที่จะนำไปลงเป็นโครงสร้างของทั้งประเทศ อาจจะไม่ได้ลงไปถึงรายบุคคล แต่เป็นภาพรวมที่ทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจำเป็นจะต้องชะลอเงินส่วนนี้ที่จะให้คนบางกลุ่มไปก่อน แต่ต้องให้คนทั้งประเทศก่อนเป็นสิ่งที่เราเรียงลำดับความสำคัญ  และเงินส่วนหนึ่งในจำนวนนี้จะนำไปแก้ปัญหาภาษีกับทางสหรัฐฯ แล้วจะมีอีกก้อนหนึ่งที่นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกันซึ่งรายละเอียดขอให้ไปถามกระทรวงการคลัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าของการเจรจากำแพงภาษีกับสหรัฐหลังนักธุรกิจใหญ่ ๆ ได้พบกับนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พอดีนายทักษิณไม่ได้ไป จึงไม่ทราบว่าคุยอะไรกับ นักธุรกิจใหญ่แต่ว่าก็ไม่มีอะไรที่ประสานกับรัฐบาล ก็บอกแล้วว่าเสียดายที่นายทักษิณไม่ได้ไป ไม่งั้นก็ได้คุยกันแล้ว

ทั้งนี้ จะต้องมีการเจรจากับนาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ให้มาช่วยเจรจาเรื่องภาษีหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องเอาตามระบบก่อนว่าอย่างไร เพราะไม่ว่านักธุรกิจใหญ่เจ้าไหน ถ้าสมมติว่าจะเกิดประโยชน์กับรัฐบาล คิดว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน ไม่ต้องเป็นธุรกิจใหญ่ก็ได้ ธุรกิจเล็กก็ได้ถ้าสามารถช่วยรัฐบาลได้ยิ่งดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง