เตรียมรับมือน้ำท่วม มีมติให้เขื่อนป่าสักฯ ส่งน้ำทำนาปีเร็วขึ้น

เตรียมรับมือน้ำท่วม มีมติให้เขื่อนป่าสักฯ ส่งน้ำทำนาปีเร็วขึ้น

View icon 284
วันที่ 20 พ.ค. 2568 | 17.24 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการจัดการชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ (JMC) และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ สำนักงานชลประทานที่ 10 จับมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำวางแผนส่งน้ำทำนาปี 2568 เริ่ม 20 มิ.ย. 68 นี้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาชี้ฝนปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันตกมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 15% คล้ายปี 2542 คาดน้ำเต็มเขื่อนป่าสักฯ สิ้นฤดูฝนในเดือน พ.ย. 68 นี้

โดย นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ มอบหมายให้ นายสมชาย ร่มเย็น หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ (JMC) พร้อมด้วยเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางวางแผนการบริหารจัดการน้ำชลประทาน และแก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำทำการเกษตรในฤดูนาปี พ.ศ. 2568

682c5a0ab967b2.79135468.jpg

นายสมชาย กล่าวว่า ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 68 โดยฝนที่ตกในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 15% แล้ว ซึ่งเป็นการเข้าสู่ปีน้ำมาก คล้ายกับปี 2542 ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และฝนจะตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. 68 ดังนั้น ปลายปีนี้ในพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักมากในบางพื้นที่ ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ปัจจุบันมีน้ำอยู่ที่ 16% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว เขื่อนมีน้ำอยู่ที่ 11% เท่านั้น และในเวลานี้ ก็เริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแล้ว ส่วนการระบายน้ำในขณะนี้อยู่ที่ 20 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยคาดว่าสิ้นฤดูฝนในเดือน พ.ย. 68 จะมีน้ำเต็มเขื่อน

682c5a0d28ac25.68863356.jpg

ด้าน นายชั้น โสภา ประธานคณะกรรมการจัดการชลประทานแก่งคอย-บ้านหมอ (JMC) กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่มีมติที่จะเริ่มการปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้นจากเดิม ที่เคยเริ่มปลูกข้าวนาปีในเดือน ก.ค. แต่ปีนี้ ได้ขอให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ เริ่มการส่งน้ำเพื่อการทำนาปีตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 68 เป็นต้นไป โดยมีข้อตกลงในการแบ่งรอบเวรสูบน้ำทำนาเป็น 3 โซน ทยอยสูบน้ำทีละโซน เริ่มจากพื้นที่ปลายน้ำก่อน และจะสูบน้ำรอบเวรละ 7-10 วัน เพื่อให้เกษตรกรได้รับน้ำทำนาปีอย่างทั่วถึง เพื่อหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ นายสมชาย บอกอีกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ที่เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มาให้ข้อมูลและร่วมตัดสินใจ ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน