ห้องข่าวภาคเที่ยง - ข่าวนี้เตือนคนใช้รถ จะซื้อยางรถ จะเปลี่ยนยางใหม่ ระวังให้ดี ! หลังเจอโกดังยางเถื่อนซุกซ่อนกลางป่า ทีมสุดซอยบุกตรวจถึงขั้น ผงะ ! พบกองยางเสื่อมสภาพ รอดัดแปลงส่งไปขาย 70,000 กว่าเส้น
ทลายโกดังยางรถยนต์เถื่อน ยึดยางเสื่อม 7 หมื่นเส้น
พบเบาะแสขบวนการลักลอบนำยางรถยนต์เสื่อมสภาพมาดัดแปลงทำให้ใหม่ ก่อนนำไปขาย ลักษณะตั้งเป็นโกดังซุกซ่อนกลางป่าสวนยาง ในพื้นที่ ตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง
ช่วงจังหวะที่ทีมสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ คนงานที่กำลังดัดแปลงยางอยู่ วิ่งหนีกันไปคนละทิศคนละทาง และต้องผงะ ! กับกองยางรถยนต์จำนวนมาก ส่วนใหญ่ถูกเจียรขัดผิวแก้มยางทั้ง 2 ด้าน เพื่อลบชื่อยี่ห้อ และวันผลิตยางออกบางตัวอักษร เป็นเจตนาปกปิดอำพรางข้อมูลบนยางอย่างชัดเจน ทำการยึดอายัดทั้งหมดประมาณ 74,504 เส้น มูลค่าโดยประมาณเส้นละ 3,000 บาท รวมกว่า 223 ล้านบาท
เมื่อตรวจค้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำเป็นสำนักงาน พบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพียบ เช่น ใบโอนย้ายสินค้าของบริษัทแห่งหนึ่ง สมุดบันทึกรายละเอียดยางรถยนต์ และหินเจียรมือถือ
ตำรวจควบคุมตัวคนงานได้รวม 14 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ที่เหลือเป็นชาวจีนไปดำเนินคดี หนึ่งในนั้นหญิงชาวจีน เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของบริษัท ให้การว่ายางทั้งหมดเก็บไว้เพื่อรอทำลาย
ซึ่งเจ้าของสถานที่เป็นคนไทย ให้ชาวจีนเช่าพื้นที่ ตอนนี้เจ้าของชาวจีน ออกนอกประเทศไปแล้ว ! ส่วนยางรถยนต์ส่วนใหญ่มีต้นทางมาจาก 4 บริษัทใน จังหวัดชลบุรีและระยอง
ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลดำเนินคดีกับบริษัทและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมเตือนผู้บริโภคหลีกเลี่ยงซื้อยางราคาถูกเกินจริงมาใช้งาน อาจเจอยางเถื่อน เสื่อมคุณภาพ เสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่ขับขี่ ยางอาจระเบิดเกิดอุบัติเหตุได้
น่ากังวล ไทยกลายเป็นถังขยะพิษโลก !
ส่วนอีกที่ ที่ท่าเรือกรุงเทพ หลายหน่วยงาน ไปตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัย 36 ตู้ที่นำเข้าจากประเทศโมร็อกโก อ้างว่าเป็น สังกะสีเข้มข้น (Zinc Concentrate) แต่ผลตรวจกลับพบปนเปื้อนโลหะหนักอันตราย ของเสียเป็นพิษ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และพลวง น้ำหนักรวมกว่า 736 ตัน เข้าข่ายผิดกฎหมาย และละเมิดข้อกำหนดตามอนุสัญญาบาเซล
ซึ่งของเสียทั้งหมดจะถูกส่งกลับประเทศต้นทางทันที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งของเสียจากต่างชาติ
หลังพบสถิติปีนี้ จับกุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และสังกะสีผิดกฎหมายไปแล้วเกือบ 1.5 ล้านกิโลกรัม