แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว ตั้งตัวเป็นเท้าแชร์ เปิดวงแชร์เกือบ 60 วง หลอกเล่นแชร์ทิพย์ เชิดเงินหนี เสียหายกว่า 20 ล้านบาท ผู้เสียหายรายเดียวโดนไป 5 ล้าน เผยเชื่อใจ เพราะรู้จักเป็นคนกันเอง
วันนี้ (10 มิ.ย.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้เสียหายกว่า 10 คน นำหลักฐานเป็นสลิปโอนเงินและบันทึกการสนทนากลุ่มไลน์เข้าแจ้งความที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 จ.เชียงใหม่ ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 34 ปี เท้าแชร์ ที่เปิดบ้านแชร์ออมเงินทิพย์ หลอกขายแชร์ก่อนเชิดเงินหนี เบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 60 คน วงเงินความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า น.ส.เอ เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวในพื้นที่ ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ หลายปีที่ผ่านมาได้ตั้งตัวเป็นเท้าแชร์เปิดวงแชร์ชักชวนเพื่อนบ้านและคนรู้จักมาร่วมออมเงิน โดยให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเหมือนกับวงแชร์ปกติทั่วไป ที่ผ่านมามีลูกแชร์ร่วมเล่นกว่า 10 วง วงละไม่ต่ำกว่า 30 คน สมาชิกแต่ละคนเปียแชร์ได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามปกติไม่มีบิดพลิ้ว กระทั่งช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา น.ส.เอ เปิดวงแชร์เพิ่มอีกเกือบ 50 วง แต่ละวงจะตั้งกลุ่มไลน์พร้อมชื่อวงแชร์ ชักชวนคนเข้ามาลงทุนตามปกติ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกเกือบ 50 คน หลายคนร่วมลงทุนด้วยความเชื่อใจ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา และยังชักชวนเพื่อนฝูงคนรู้จักมาเล่นเพิ่ม
จนเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เท้าแชร์ได้ประกาศขายต่อแชร์ของสมาชิกหลายคนในหลายกลุ่ม อ้างเหตุผลที่ขายเพราะจะไปต่างประเทศ บางคนขายเพราะต้องการเงินด่วนไปใช้ โดยบอกว่าซื้อต่อไปแล้วจะได้เงินคืนสองเท่าในระยะเวลาเพียงสองสามเดือน หลายคนหลงเชื่อซื้อต่อไปหวังได้กำไรเท่าตัว แต่ปรากฏว่า น.ส.เอไม่จ่ายเงินให้ตามที่บอกไว้ ก่อนจะหายตัวไปจากบ้านพร้อมกับสามี ลูกแชร์มารู้ตัวว่าถูกหลอกให้ลงทุนในบ้านแชร์ทิพย์ เพราะมีการเปิดกลุ่มไลน์มาจริง แต่สมาชิกในกลุ่มไลน์เกือบทั้งหมดไม่มีตัวตน จะมีก็เฉพาะเท้าแชร์กับคนที่โดนหลอกให้ลงทุนกลุ่มละแค่สองสามคน
ผู้เสียหาย เผยด้วยว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน อ.แม่แตง ที่รู้จักคุ้นเคยกับ น.ส.เอ และเชื่อใจกัน เพราะเห็นเป็นคนกันเอง จนถึงขณะนี้มีคนโดนหลอกแล้วกว่า 50 คน แต่ละคนลงทุนในแชร์ทิพย์ไปมาก มีคุณป้าคนหนึ่งที่นำหลักฐานเข้าแจ้งความในวันนี้โดนหลอกเสียเงินไปกว่า 5 ล้านบาท บางคนโดนไปหนึ่งล้านบาท ที่เหลือส่วนใหญ่โดนไปหลักแสนบาท เมื่อความแตกและโดนผู้เสียหายติดตามตัว น.ส.เอบอกว่าจะขอผ่อนชำระให้ แต่กลุ่มผู้เสียหายไม่เชื่อใจ บางคนไปกู้เงินมาลงทุน ประกอบกับมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงรวมตัวเข้าแจ้งความ
ขณะที่พนักงานสอบสวน บก.สอท.4 เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องและสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสอบสวนของตำรวจไซเบอร์หรือไม่ โดยข้อมูลหลักฐานที่ผู้เสียหายนำมาเบื้องต้นเข้าข่ายคดีฉ้อโกง แต่ยังไม่ชัดว่าการชักชวนหลอกลวงทางกลุ่มไลน์ซึ่งไม่ได้เป็นสาธารณะจะเข้าข่ายการหลอกลวงทางออนไลน์หรือไม่