สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ เตือนทีมงานนายกฯ หยุดพฤติกรรมคุกคามสื่อ

สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ เตือนทีมงานนายกฯ หยุดพฤติกรรมคุกคามสื่อ

View icon 1.2K
วันที่ 11 มิ.ย. 2568 | 20.12 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ เตือนทีมงานนายกฯ หยุดพฤติกรรมคุกคามสื่อ

วันนี้ (11 มิ.ย.68) สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ เตือนทีมงานนายกฯ กรณีถ่ายภาพและเผยแพร่ใบหน้าสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามปมพิพาท ‘ไทย-กัมพูชา’ อาจเข้าข่ายคุกคาม สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว หวังให้รัฐบาล เคารพเสรีภาพสื่อ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำหน้าที่อย่างปลอดภัย

สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวว่า ทีมงานด้านภาพลักษณ์ และสื่อสังคมออนไลน์ของนายกรัฐมนตรีได้บันทึกภาพสื่อมวลชน ขณะปฏิบัติหน้าที่ตั้งคำถามต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาพิพาทชายแดนไทย–กัมพูชา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2568 ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยต่อมา ภาพใบหน้าของผู้สื่อข่าวดังกล่าว ได้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และปรากฏว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายกรัฐมนตรีแสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นเดียวกัน ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความกังวลใจต่อบรรยากาศในการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล

สมาคมนักข่าวฯ ขอแสดงความไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบของการกระทำที่อาจเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

1.การบันทึกภาพสื่อมวลชนเฉพาะเจาะจงระหว่างการตั้งคำถามต่อผู้บริหารประเทศ และการเผยแพร่ภาพดังกล่าวต่อสาธารณะ อาจถูกมองว่าเป็นการกดดันหรือข่มขู่ ซึ่งกระทบต่อบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชน และบั่นทอนหลักเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการตั้งคำถามอันเป็นหัวใจของวิชาชีพในระบอบประชาธิปไตย

2.พฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ โดยเฉพาะในการสอบถามประเด็นอ่อนไหวที่ประชาชนให้ความสนใจและต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาล

3.สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ทีมงานนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หยุดพฤติกรรมที่อาจถูกตีความว่าเป็นการคุกคามสื่อมวลชน และขอให้รัฐบาลส่งเสริมเสรีภาพสื่อโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

สมาคมนักข่าวฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อในฐานะกลไกตรวจสอบและกระบอกเสียงของประชาชน พร้อมทั้งขอให้ทุกฝ่ายเคารพเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานของสื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพและเป็นอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง