พระบรมราโชวาท

  • สุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ให้แก่ชาติบ้านเมือง ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า “พลเมืองที่แข็งแรง ย่อมสามารถสร้างชาติที่มั่นคง” ก็คงจะไม่ผิด

    พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (31)

  • คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา หรือมีอาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝน ก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้

    พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (32)

  • เกษตรกรไทยเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประเทศมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน แม้พลเมืองของชาติจะทวีขึ้นมากเพียงใด เกษตรกรก็ผลิตอาหารได้เพียงพอเสมอ ซ้ำยังสามารถส่งออกไปเลี้ยงพลโลกได้อีกเป็นจำนวนมาก การที่ชาติของเราเลี้ยงตนเองได้นี้ เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่ว่าเกิดภาวะการณ์เช่นไร เราจะอยู่รอดได้เสมอ เนื่องจากคนไทยเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่จะเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น

    พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (33)

  • ที่พูดกันว่า ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลนั้น ความจริงเป็นฝีมือมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้สภาพธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนเดิม มีแม่น้ำลำธาร มีน้ำจืด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ และการพัฒนาประเทศชาติ พวกเราต้องเข้าใจและช่วยกันรักษาป่า เพื่อที่เราจะได้มีอนาคตและความหวังร่วมกัน

    พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ... (34)

  • “หนังสือ” เป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่า และมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (35)

  • คุณธรรม 4 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ประกอบด้วย
    ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
    ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดี
    ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
    ประการที่สี่ คือการรู้จักและวางความชั่ว ความทุจริต
    คุณธรรม 4 ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (36)

  • คนไทย รักษาชาติ รักษาแผ่นดิน เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (37)

    (ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2521)

  • ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใด โดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่ายทุกๆคน ที่จะต้องร่วมมือกระทำ พร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (38)

    (ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)

  • ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือความสำนึกตระหนักในคุณของแผ่นดิน อันเป็นที่เกิดที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติกำเนิด และมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษา ประเทศชาติไว้ ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (39)

    (ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม ของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธ.ค.2529)

  • บรรพชนไทย เป็นนักต่อสู้ ผู้มีชีวิตจิตใจผูกพันปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามัคคีพร้อมเพรียงกันทุกเมื่อ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด บ้านเมืองไทยจึงมีเอกราชอธิปไตย และมีความสุขความสมบูรณ์ทุกอย่างมาจนกระทั่งทุกวันนี้

    (ในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ 3 ธ.ค.2522 ณ ลานพระราชวังดุสิต)

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (40)

‹ First  < 2 3 4 5 6 >  Last ›