พระบรมราโชวาท

  • วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่ โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (51)

    (เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2521)

  • ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (52)

    (ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี)

  • การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (53)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธ.ค. 2516)

  • เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (54)

    (จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)

  • สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (55)

    (เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มี.ค.38)

  • การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติหากผู้ใดล่วงละเมิด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (56)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 4 ก.ค. 40)

  • ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (57)

    (พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้ จ. ปัตตานี 24 ส.ค. 19)

  • การทำงานใหญ่ ๆ ทุกอย่าง ต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจทำไม่สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้เริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญ จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น

    พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... (58)

    (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ต.ค. 14)

  • การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง

    พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (59)

    (แถลงการณ์ สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพีง (สวชพ.) เรื่อง “การใช้เสรีภาพเพื่อความปรองดองสมานฉันท์” เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม

  • การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้วยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้วย่อมมีใจแน่วแน่ ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่นรู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง

    พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (60)

    (ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี 2507 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา วันศุกร์ 27 พ.ย.2507)

‹ First  < 4 5 6 7 8 >  Last ›