ที่แปลงปลูกกัญชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการเก็บช่อดอกกัญชาที่ได้ขนาด นำมาตัดแต่ง เพื่อนำไปอบแห้ง เตรียมส่งไปจำหน่ายตามออร์เดอร์ ให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งที่แปลงปลูกกัญชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นี้ ถือว่าเป็นต้นแบบการปลูกกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา และการปลูก ตั้งแต่การวางระบบโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การเพาะกล้า เตรียมการปลูก เก็บเกี่ยว การบำรุงรักษาคุณภาพ และทำการวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ นำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ ผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศมาขอคำปรึกษาและร่วมเป็นเครือข่ายจำนวนมาก นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า กัญชาเป็นพืชที่ยังไม่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย เกษตรกรที่ปลูกก็ต้องหาแหล่งจำหน่ายใหม่ การคาดหวังว่าจะสามารถขายช่อดอกได้ ในราคากิโลกรัมละ 70,000 บาทขึ้นไป จนทำให้มีผู้หันมาปลูกกัญชากันเป็นจำนวนมาก ไม่เป็นความจริง ช่อดอกกัญชาไม่มีราคากลาง เป็นเพียงแค่พูดกันไปเอง สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกกัญชา ก็ต้องหาตลาดก่อน ถ้ายังหาตลาดไม่ได้อย่าปลูกเลย จะเสียเวลาและขาดทุนเปล่า ๆ แต่ถ้าจะขายให้หน่วยงานกลาง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เขาก็รับซื้อได้เพียงปริมาณจำกัด ไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ก็ต้องดูว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่จะสามารถซื้อช่อดอกกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ได้