คอลัมน์หมายเลข 7 : เทียบหลักเกณฑ์ปฏิบัติ กรณีติดตั้งเสาไฟฟ้ากินรีในที่เอกชน

View icon 248
วันที่ 7 ธ.ค. 2565 | 20.14 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - ยังเป็นคำถามและถูกตั้งข้อสังเกตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณของ อบต.ราชาเทวะ โดยเฉพาะกรณีเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี ที่พบข้อมูลว่า มีบางส่วนกำหนดจุดก่อสร้างในพื้นที่เอกชน ซึ่งคอลัมน์หมายเลข 7 พบเอกสารกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะนำมาเทียบเคียงกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

บริเวณบ่อน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ เป็นหนึ่งจุดที่ อบต.ราชาเทวะ กำหนดเป็นพื้นที่ ที่จะติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี จำนวน 40 ต้น จากทั้งหมด 727 ต้น ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี ซึ่งสภา อบต. มีมติเสียงข้างมาก 10 ต่อ 4 เสียง อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมจำนวนกว่า 148 ล้านบาท จากที่เหลือใช้ได้อยู่ประมาณ 228 ล้านบาท มาจัดทำ 4 โครงการ ซึ่งมีลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ชอบมาพากล และ ป.ป.ช. กำลังไต่สวน เพื่อชี้มูลความผิด

ที่น่าสังเกตคือ จุดพื้นที่บริเวณนี้ ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ของเอกชน อยู่ภายในซอยกิ่งแก้ว 41

รองนายก อบต.ราชาเทวะ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาแผน ซึ่งเป็นจุดตั้งต้น ที่ทำให้โครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี จำนวน 727 ต้น ปรากฎไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ชี้แจงทำความเข้าใจถึงสาเหตุว่า ทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากความต้องการของชุมชน โดย ทาง อบต. ได้ยึดแนวทางปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนดไว้

คอลัมน์หมายเลข 7 ตรวจสอบ พบหนังสือเอกสารของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแจ้งไว้ในปี 2542 หลังปรากฏบางหน่วยงาน ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนในลักษณะที่มิได้เป็นการเวนคืนที่ดิน แต่ใช้วิธีการเชิญชวนราษฎรให้อุทิศที่ดิน โดยไม่ได้ให้จัดทำเอกสารหลักฐานแสดงความยินยอมเป็นหนังสืออุทิศที่ดิน และต่อมาภายหลัง เมื่อทางราชการนำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการ ผู้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินในเบื้องต้น กลับโต้แย้งและคัดค้าน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางราชการชดเชยค่าที่ดินในภายหลัง เป็นเหตุให้การดำเนินโครงการพัฒนาในลักษณะดังกล่าว ต้องสะดุดชะงัก เกิดความล่าช้า และเกิดกรณีร้องเรียนตลอดมา

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ขั้นตอนการติดตั้งโครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีบนพื้นที่เอกชน ดำเนินการถูกต้องตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยวางไว้หรือไม่

แม้เวลานี้ จะยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี แต่ด้วยลักษณะการจัดทำโครงการที่เหมือนกับรูปแบบเดิม คือ การจัดทำโครงการผ่านการใช้เงินสะสม ซึ่งหลักเกณฑ์ค่อนข้างกว้าง ทำให้ใช้เงินง่าย แค่มีเสียงข้างมากในสภา อบต.ก็ชนะแบบใส ๆ แตกต่างจากการใช้งบประมาณปกติ ที่มีหลักเกณฑ์รัดกุมมากกว่า ทำอย่างไรให้การตรวจสอบการใช้เงินสะสมมีความเข้มข้นมากกว่านี้ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ผู้มีอำนาจต้องเร่งขบคิด เพื่อหยุดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เพราะทุกบาทคือภาษีของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง