ประเด็นเด็ด 7 สี - เมื่อช่วงเกิดโควิด-19 ธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า การส่งสินค้า ล้วนเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ แน่นอนว่า ย่อมมีผลกับธุรกิจเหล่านี้ วันนี้เราจะไปติดตามสถานการณ์ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ
สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลกระทบกับกลุ่มธุรกจ Food Delivery คาดการณ์ว่า ปีหน้า ธุรกิจนี้ อาจต้องเหนื่อยมากหน่อย ด้วยสัดส่วนยอดขายที่หดตัวลงอย่างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ปรับตัวลดลง หลัก ๆ มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ตามปกติ และผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคกลับมานั่งทานอาหารในร้าน และซื้อกลับมาทานด้วยตนเองมากขึ้น ส่งผลให้บทบาทของธุรกิจจัดส่งอาหารปรับลดลง แต่หากดูรวม ๆ แล้ว ถือว่ามูลค่าทางการตลาดยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมาก เหตุผลคือ เรา ๆ เริ่มคุ้นชินการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน รวมทั้งการทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จัดส่งอาหาร และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง หลายคนก็เลยคิดว่า แทนที่จะขับรถ หรือ นั่งรถออกไปนอกบ้าน ก็สั่งอาหารมาทาน เสียค่าส่งไม่มาก แต่ประหยัดเวลาได้มาก
คราวนี้มาดูคาดการณ์ตลาดกันบ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ว่า ปีหน้าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ จะมีมูลค่าประมาณ 81,000 - 86,000 ล้านบาท ตัวเลขดูเหมือนเยอะ แต่เป็นการหดตัว มาก ตั้งแต่ 0.8-6.5% เมื่อเทียบกับปี 2565
พฤติกรรมความเคยชินของผู้บริโภคบางกลุ่ม และการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร จะช่วยให้ในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงมีต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูง ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการต่างมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า มาดูกลุ่มอาหารที่ยังคงได้รับความนิยม คาดว่าจะเป็นหมวดพื้นฐาน และอาหารจานด่วน ขณะที่เครื่องดื่มและเบเกอร์รี คาดว่าจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อลง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้สะดวกเมื่อกลับไปทำงานตามปกติ เราไปสอบถามกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ นั่นก็คือเหล่าไรเดอร์
ทางออกของเรื่องนี้ คือเมื่อผู้บริโภคปรับตัว ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารก็ต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การดึงกลุ่มลูกค้าเก่าให้ใช้งานต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอแพคเกจรายเดือน และการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง
ไม่ใช่ประเทศไทย เพียงประเทศเดียวที่ทิศทางอุตสาหกรรม Food Delivery มีแนวโน้มหดตัว ในหลาย ๆ ประเทศ ก็ปรับตัวลดลงไม่ต่างจากเรา ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ต้องหากลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษายอดขาย สรุปได้ว่า การทำตลาดในปีหน้า จะมีความยากลำบากมากขึ้น คนแข็งแกร่งที่สุดจะอยู่รอด