ช่วงปีใหม่ ไม่ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงตี 2

View icon 64
วันที่ 23 ธ.ค. 2565 | 05.14 น.
เช้าข่าว 7 สี
แชร์
เช้าข่าว 7 สี - คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีมติไม่ขยายระยะเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 02.00 น. ในช่วงเทศกาลปีใหม่

ช่วงปีใหม่ ไม่ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงตี 2
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 เน้น "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" รณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" ย้ำมาตรการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม หรือทำโพรโมชัน

และปีใหม่นี้จะอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาเดิม 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ก็คือทุกร้านค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงลานเบียร์ปีใหม่ จะไม่ได้รับการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปถึง 02.00 น. ปัดตกข้อเสนอของผู้ประกอบการ ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การจำกัดเวลาขายไม่ให้ดึกดื่น เพื่อลดปัญหาเมาแล้วขับ อุบัติเหตุ และอาชญากรรม เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่จะเน้นด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุ มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องให้เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจทุกราย ถ้าไม่เป่าให้ส่งโรงพยาบาล เจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ ส่วนคนเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เพิ่มการบำบัดรักษาอาการติดเหล้าด้วย

เร่งผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ ช่วยชีวิตก่อนถึง รพ.
ในช่วงเทศกาล แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลทำงานหนัก เพื่อช่วยชีวิตและรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ส่วนอีกคนที่สำคัญ คือ นักฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือ กู้ชีพ ที่อยู่บนรถพยาบาล จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ให้รอดชีวิต ก่อนถึงมือแพทย์

นายแพทย์สุขสันต์ กนกศิลป์ อาจารย์แพทย์ประจำหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า นักฉุกเฉินทางการแพทย์ ขาดแคลน และผลิตบัณฑิตด้านนี้ได้ปีละ 180-200 คน ไม่พอกับความต้องการ ปีละ 2,000-3,000 คน

ล่าสุด โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ (ต่อเนื่อง) จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพเฉพาะให้ได้ 15,000 คน ภายใน 10 ปี เน้นความชำนาญ และทักษะการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยเหลือ ประคับประคองอาการ ป้องกันการเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล