"หมอสมิทธ์" เปิดข้อมูลศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ ผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า

"หมอสมิทธ์" เปิดข้อมูลศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ ผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า

View icon 405
วันที่ 23 ธ.ค. 2565 | 09.21 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"หมอสมิทธ์" เปิดข้อมูลศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ ผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 7 คน กลุ่มที่เสพนันทการ เสพกัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ทำให้เพิ่มความรุนแรงของการบาดเจ็บ

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อมูลผู้เจ็บป่วยที่มีประวัติสัมผัสกัญชาและปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.65 มีผู้ป่วยจากกัญชา 212 คน เดือน มิ.ย. 68 คน เดือน ก.ค. 75 คน เดือน ส.ค. 69 คน ในจำนวน 212 คน พบ 161 คน หรือ 75.9%ใช้กัญชาเพียงอย่างเดียว และอีก 51 คน ใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ได้แก่ กระท่อม สุรา แอมเฟตามีน

นอกจากนี้ยังพบการใช้กัญชาเพื่อเสพนันทนาการ ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการปลดล็อกกัญชา กลุ่มที่เสพนันทการ เสพกัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ซึ่งเพิ่มความรุนแรงของการบาดเจ็บ มีการทดลองกินขนมกัญชาทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ปัจจุบันคลินิกกัญชาทางการแพทย์จะตรวจยืนยันการวินิจฉัยก่อนพิจารณาให้ยา รวมถึงภาวะตีกันของยา จึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาเองโดยไม่ปรึกษาคลินิกกัญชาทางการแพทย์

หมอสมิทธ์ สรุปรายงานผู้ป่วยที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับกัญชา หลังปลดล็อกให้กัญชาเสรีว่า มีผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่า ส่วนใหญ่ใช้กัญชาเพียงอย่างเดียวไม่มีสารอื่น และส่วนใหญ่ใช้เพื่อสันทนาการหรือทดลองใช้ ดังนี้
1. มีผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 เท่า คือมีผู้ป่วยจากการใช้กัญชา แล้วมาปรึกษาศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังปลดล็อกกัญชาเสรี โดยปกติมีผู้ป่วยประมาณ 20 กว่าคนต่อเดือน กลายเป็น 68-75 คนต่อเดือน
2. ผู้ป่วย 76% ใช้กัญชาอย่างเดียว ขอเน้นเรื่องนี้เพราะมีคนอ้างว่าเกิดจากการใช้ร่วมกับสารเสพติดตัวอื่น
3. ผู้ป่วย 68% ใช้เพื่อสันทนาการหรือทดลองใช้ แต่มีเพีย 7.5% ใช้เพื่อรักษาโรค แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ใช้เพื่อสันทนาการ ไม่ได้ใช้เพื่อการแพทย์ตามจุดประสงค์ที่รัฐบาลอ้าง
4. พบผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปีจำนวน 39 คน (18.4% ) และเป็นการใช้เสพเพื่อนันทนาการ 21 คน แสดงให้เห็นว่าป้องกันการเข้าถึงกัญชาในเด็กยังไม่ดีพอ ซึ่งกัญชามีผลต่อสมองโดยเฉพาะในเด็ก จึงมีผลกระทบมาก
5. มีคนต้องแอดมิดทั้งหมด 126 คน ( 59%) แสดงให้เห็นชัดว่า มีผู้ป่วยที่รุนแรงเกินครึ่ง ส่วนใหญ่มีอาการใจสั่น
6. มีคนเจ็บป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 7 คน โดยหนึ่งรายเป็นเด็กอายุ 14 ปี ใช้กัญชาอย่างเดียวจนง่วงซึมไม่รู้สึกตัว จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิต
7. มีคนตาย 1 คน เกิดจากการใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ซึ่งจะเสริมฤทธิ์กันได้

สุดท้ายขอสรุปว่า เห็นชัดเจนแล้วนะครับว่าการปล่อยให้กัญชาเสรีโดยไม่มีการควบคุม ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนักมากขึ้น สูญเสียทรัพยากรในทางการแพทย์มากขึ้นชัดเจน และอย่าอ้างว่าเพื่อการแพทย์ เพราะส่วนใหญ่ใช้เพื่อสันทนาการ อีกเรื่องหนึ่งคือข้อมูลนี้ควรออกมาเป็นทางการจากทางรัฐบาล ประเทศอื่นที่ให้เสรีก็จะมีข้อมูลแบบนี้ให้ประชาชน เพื่อเตือนประชาชนถึงโทษของกัญชา ไม่ใช่บอกแต่ข้อดีแบบในปัจจุบันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง